ระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้า
ทุ่งหญ้ามีลักษณะเป็นที่ราบ มีอาณาเขตกระจายทั่วไปในส่วนที่เป็นพื้นดินของโลก
มีปริมาณน้ำฝน 10-30 นิ้วต่อปี มีอัตราการระเหยสูงทำให้เกิดความแห้งแล้งเป็นครั้งคราว
แบ่งเป็นทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น(Temperate grassland) เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือ
และยุโรปตะวันตกที่เรียกทุ่งหญ้าว่า แพรรี่(Prairie) รัสเซีย
เรียกทุ่งหญ้าว่า สเตปส์ (Steppes) ฮังการีเรียกว่า พัสซา (Pustza)
ทุ่งหญ้าเขตร้อน(Tropical savanna grassland) อยู่ในอัฟริกาใต้และตอนเหนือของทวีป
ออสเตรเลีย เรียกว่า ทุ่งหญ้าสะวันนา (Savanna) ทุ่งหญ้าสะวันนามีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าทุ่งหญ้า
เขตอบอุ่น มีฝนตกประมาณ 40-60 นิ้วต่อปี น้ำและไฟป่าเป็นปัจจัยจำกัดของระบบนิเวศทุ่งหญ้า
สิ่งมีชีวิตในทุ่งหญ้าต้องมีความทนทานต่อความแห้งแล้งและไฟป่าได้อย่างดีจึงจะชีวิตรอดอยู่ได้
หญ้าจัดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเด่นในทุ่งหญ้า มีความสูงของลำต้นแตกต่างกันตามปริมาณฝนที่ตก
ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่นมีความสูงตั้งแต่ 1.5 ฟุต จนถึง 8 ฟุต หญ้าเหล่านี้มีระบบรากหยั่งลึกมาก
บางชนิดหยั่งลึกถึง 6 ฟุต พืชอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ ฟอร์บ(Forb)
ซึ่งเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง พืชอื่นเฉพาะที่ปรากฎในทุ่งหญ้าเขตร้อนไม่ปรากฎในทุ่งหญ้าเขตอบอุ่นคือ
ไม้ยืนต้น ไม้ยืนต้นมีประปราย ขึ้นรวมเป็นกลุ่มบ้าง ขึ้นเดี่ยวๆ
บ้าง
สัตว์ในทุ่งหญ้ามีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
สัตว์กีบ สัตว์แทะ สัตว์ในเขตอบอุ่น ได้แก่ วัวไบสัน แอนทีโลป
ม้าลาย กระรอก ส่วนในทุ่งหญ้าเขตร้อน ได้แก่ แอนทีโลป ม้าลาย
ควายป่า แรด สิงโต สุนัขป่า ในออสเตรเลีย ได้แก่ จิงโจ้
ทุ่งหญ้าเป็นแหล่งอาหารที่ดีของสัตว์ มนุษย์บุกรุกเข้าไปทำเกษตรกรรมในทุ่งหญ้า
ด้วยการเพาะปลูกธัญพืช และใช้ทุ่งหญ้าเป็นที่เลี้ยงสัตว์ ถ้าการปลูกธัญพืชและการใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์
กระทำกันจนเกินขนาด (Over grazing) ย่อมมีผลให้ทุ่งหญ้าเปลี่ยนสภาพจากที่ชุ่มชื้นเป็นที่แห้งแล้งขึ้นทุกทีและเสียสมดุลของระบบนิเวศไปในที่สุด
|