มทร.อีสาน เจ้าภาพจัดประชุมวิชาการวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้งานวิจัยที่ช่วยหนุนภาคเกษตรกรรม

วันที่ 29 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิขาการวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ ครั้งที่ 7 (The 7th Conference on Farm Engineering and Automation Technology) “Smart Farm forwards to Smart Life” ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeitng โดยมี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นายกสภา มทร.อีสาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งมี รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมมี รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.บัณฑิต กฤตาคม ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิขาการวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ ครั้งที่ 7 และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรม และบริการวิชาการ มทร.อีสาน ผศ.ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน และนักวิจัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการโดยพร้อมเพรียงกันผ่านระบบออนไลน์

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานและความร้อน (Institute of Innovative Thermal and Energy technology, IITE) ได้จัดทำโครงการการประชุมวิชาการวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ ครั้งที่ 7 (The 7th Conference on Farm Engineering and Automation Technology) ขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ผลงานวิจัยของนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร โดยนำโจทย์ปัญหาจริงจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาศึกษาวิจัยและแก้ไขปัญหา ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Smart Farm forwards to Smart Life ที่มีความเหมาะสมกับสภาพบริบทปัจจุบันของประเทศที่พัฒนาประเทศไปสู่ฐานการผลิตที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีควบคุมอัตโนมัติให้มากขึ้นตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้มีการทำงานและการใช้ชีวิตที่ทันสมัยและมีผลิตภาพที่ดีจากการใช้เทคโนโลยี”

โดยภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Climate change and new climate normal over the next decade” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะอากาศปกติใหม่ในทศวรรษหน้า โดย นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นายกสภา มทร.อีสาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่า “เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่อยากให้ทุกคนร่วมกันตระหนักและให้ความสนใจอย่างจริงจัง ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์นั่นเองที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอันส่งผลกระทบให้เกิดปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทั้งภาวะน้ำทะเลขึ้นสูง ฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล อากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์เหล่านี้ได้ ทั้งนี้ก็ส่งผลไปยังการทำเกษตรกรรมชองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านมหาวิทยาลัยเองจึงควรเข้ามามีบทบาทด้วยการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือให้กับมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรรมที่เป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย นอกจากนี้ทางด้านของผู้นำหรือรัฐบาลอาจจะต้องมีมาตรการควบคุมคาร์บอน ที่ให้ทุกคนและทุกองค์กรร่วมกันปฏิบัติอย่างจริงจังในลดก๊าซคาร์บอนที่จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอน การสร้างสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอ การสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรืออื่น ๆ เพื่อควบคุมให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปน้อยที่สุดภายในปี ค.ศ.2050 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักวิจัยทุกท่านได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ภายใต้โครงการการประชุมวิชาการวิศวกรรมฟาร์มและเทคโนโลยีการควบคุมอัตโนมัติ ครั้งที่ 7 นี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมของแต่ละท่านจะสามารถต่อยอดไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนและช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ครับ”

ทั้งนี้สำหรับงานวิจัยที่เข้าร่วมโครงการมีผลงานที่โดดเด่นและได้รับรางวัลบทความดีเด่นในแต่ละสาขา มีดังนี้

สาขา Agriculture Machine and Automation Technologies (AMA)

รางวัลชนะเลิศ ชื่อบทความ อิทธิพลของอากาศอบแห้งแบบเป็นช่วงต่อการอบแห้งข้าวเปลือกด้วยเครื่องอบแห้งแบบพาหะลม ผู้ประพันธ์หลัก ณัฐพงษ์ วงศ์บับพา พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ กระวี ตรีอำนรรค และ เทวรัตน์ ตรีอำนรรค

รองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อบทความ GF-YOLO: แพลทฟอร์มเบาสำหรับตรวจจับวัชพืช ผู้ประพันธ์หลัก วาธิส ลีลาภัทร พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ Wang Ming Yuan

รองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อบทความ กล่องแช่เย็นผลิตผลพืชสวนผ่านอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง ผู้ประพันธ์หลัก กฤตชัย บุญศิวนนท์

สาขา Environmental Management and Alternative Energy Technology (EMAE)

รางวัลชนะเลิศ ชื่อบทความ การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ไหลเวียนอากาศแบบธรรมชาติและแบบบังคับ ผู้ประพันธ์หลัก อภินันต์ นามเขต พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ ศิริชัย ศิริชนะ, ทรงสุภา พุ่มชุมพล, รัชดา โสภาคะยัง, อำไพศักดิ์ ทีบุญมา และปฏิวัติ วรามิตร

รองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อบทความ อิทธิพลของโมเมนตัมการไหลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของกังหันน้ำที่ความเร็วการไหลต่ำ ผู้ประพันธ์หลัก เทิดศักดิ์ อาลัย พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ ชยุต พลอยจิรภาส, ดวงฤดี ชูตระกูล และ ขวัญชัย หนาแน่น

รองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อบทความ การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะเชิงความร้อนในการใช้งานระบบทำความเย็นด้วยท่อใต้ดินและระบบทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า ผู้ประพันธ์หลัก ปรีชา ทุมมุ พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ ทศวรรษ จันทะโชติ

Material Sciences and Farm Engineering & Technologies (MSFE)

รองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อบทความ การศึกษาการกระจายตัวของความร้อนในเหล็กที่เชื่อมด้วยแรงเสียดทานโดยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ผู้ประพันธ์หลัก ปกรณ์ อุ่นไธสง

รองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อบทความ การเทียบมาตรฐานในระดับห้องปฏิบัติการเซนเชอร์วัดความชื้นในดินชนิดคาปาซิทีฟแบบต้นทุนต่ำ ผู้ประพันธ์หลัก ชูพันธุ์ ชมภูจันทร์ พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ นภัสกร ชุลี

รางวัลชนะเลิศ ชื่อบทความ การเผาไหม้ในหัวเผาวัสดุพรุนที่มีการจ่ายอากาศเป็นขั้น ผู้ประพันธ์หลัก อภินันต์ นามเขต พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ อภิสิทธิ์ พรมดอน, ปฏิวัติ วรามิตร และ อำไพศักดิ์ ทีบุญมา

สาขา Related Topics (RTT)

รางวัลชนะเลิศ ชื่อบทความ การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ไซเลจร่วมกับกากมันสำปะหลังและมูลวัว ผู้ประพันธ์หลัก สุปราณี เหล่าขุนค้า และ ธนา ราษฎร์ภักดี

รองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อบทความ การศึกษาการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากโหระพาโดยใช้ระบบกลั่นแบบใช้ไอน้ำร่วมกับคลื่นไมโครเวฟ ผู้ประพันธ์หลัก วรพจน์ งามชมภู พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ ศิวดล กัญญาคำ

รองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อบทความ แบบจำลองอบแห้งชั้นบางที่เหมาะสมสำหรับการอบแห้งข้าวเปลือกด้วยเครื่องอบแห้งแบบพาหะลม ผู้ประพันธ์หลัก อภิสิกธิ์ ภักดีแก้ว พร้อมทีมงานผู้ประพันธ์คือ กระวี ตรีอำนรรค และ เทวรัตน์ ตรีอำนรรค

จิตสุภา ประหา /ข่าว
ไพฑูรย์ เคนท้าว /ภาพ

Message us
English EN Thai TH

เรียน นักศึกษา บุคลากร และผู้ใช้งานทุกท่าน

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเว็บไซต์เวอร์ชันใหม่
ขอความร่วมมือผู้ใช้งานทุกท่านใช้งานเว็บไซต์ใหม่ได้ที่

www.rmuti.ac.th