มทร.อีสาน จับมือ วช. บางจาก และ บีบีจีไอ ต่อยอดการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (SAF) นำไทยสู่เป้าหมาย Net Zero

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในการทำความร่วมมือการสร้างนวัตกรรมสีเขียวเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel; SAF) สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากฐานงานวิจัย ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลในการนำประเทศไทยสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Net Zero Carbon) ภายใน ค.ศ. 2065

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน ในฐานะมหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ตามประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และวิจัย เรามีเป้าหมายหลักคือการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อสนองการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยนอกจากการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาเป็นนักวิจัยที่สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดงานวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และคณะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประเทศอย่างแท้จริงจึงนำมาสู่ความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้

รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มทร.อีสาน กล่าวว่า โครงการ “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก วช. ตั้งแต่ปี 2563 โดยคณะผู้วิจัยพบว่าประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลจากวัสดุทางการเกษตรเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามในกระบวนการกลั่นเอทานอลจะให้ฟูเซลแอลกอฮอล์ (Fusel alcohol) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วฟูเซลแอลกอฮอล์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ คณะผู้วิจัยจึงได้เลือกนำฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอลนี้มาศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการเร่งปฏิกิริยาทางเคมี จนกระทั่งได้ผลลัพธ์ในการเปลี่ยนฟูเซลแอลกอฮอล์ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งทำให้ฟูเซลแอลกอฮอล์มีมูลค่าสูงขึ้น โครงการวิจัยนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล และช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาของสภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากฟูเซลแอลกอฮอล์ที่ได้จากโรงงานเอทานอล” นี้ประสบผลสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการหรือ Lab Scale ในการผลิตน้ำมันชีวภาพ สำหรับใช้ในเครื่องบินซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงจากวัตถุดิบที่เรียกว่าฟูเซลแอลกอฮอล์ของโรงงานผลิตเอทานอลที่มีวัตถุดิบจากกากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจตามการส่งเสริมของนโยบายภาครัฐ อีกทั้งงานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้งานในระดับประเทศ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์และการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโรงงานเอทานอลในเชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องบินที่มีคุณภาพสูงและคาร์บอนต่ำ สำหรับส่งออกและใช้ภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจาก กล่าวว่า ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2075 โดยมีเป้าหมายสำคัญเป้าหมายแรกคือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ. 2050 บางจากฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนการใช้ฟอสซิล เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคขนส่ง ซึ่งบางจากฯ ได้พัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับใช้ในการขนส่งทางบกมาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้มีโอกาสนำองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยในประเทศมาทดลองผลิตเพื่อพัฒนา SAF ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 80% ตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป แต่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นน้ำมันอากาศยานคุณภาพสูงเหมาะสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นขับไล่ของกองทัพอากาศอีกด้วย

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การศึกษาต่อยอดจากฐานงานวิจัยในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น จากวัตถุดิบภาคการเกษตรที่มีอยู่มากมายเพื่อพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่มีประโยชน์มหาศาลต่ออุตสาหกรรมการบิน ซึ่งองค์ความรู้ในการผลิต SAF นี้ มีฟูเซลแอลกอฮอล์ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่นเอทานอลเป็นวัตถุดิบ บริษัท บีบีจีไอฯ มีโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายไบโอดีเซลและเอทานอล โดยโรงงานผลิตไบโอดีเซลมีกำลังการผลิตรวม 1,000,000 ลิตรต่อวัน และโรงงานผลิตเอทานอลมีกำลังการผลิตรวม 600,000 ลิตรต่อวัน ทำให้มีความเชี่ยวชาญเต็มศักยภาพและพร้อมสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากกระบวนการผลิตเอทานอลและสนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสีเขียว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในนามกลุ่มบางจากฯ

ทั้งนี้จากความร่วมมือ ทุกฝ่ายจะร่วมกันวิจัยต่อเนื่องและทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อผลักดันในเชิงพาณิชย์ โดยในเบื้องต้นจะดำเนินการผลิตเพื่อทดลองใช้ในเครื่องบินทหาร ซึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์มีสมบูรณ์แล้วจะนำไปใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ต่อไป และหากความร่วมมือนี้ประสบผลสำเร็จ ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล ทั้งยังจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสู่การแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งจะนำพาประเทศไทยสู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 นี้ได้อย่างแน่นอน รศ.ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย

ข่าว : จิตสุภา ประหา

ภาพ : ไพฑูรย์ เคนท้าว

Message us
English EN Thai TH

เรียน นักศึกษา บุคลากร และผู้ใช้งานทุกท่าน

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเว็บไซต์เวอร์ชันใหม่
ขอความร่วมมือผู้ใช้งานทุกท่านใช้งานเว็บไซต์ใหม่ได้ที่

www.rmuti.ac.th