วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา มทร.อีสาน กำกับดูแลวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกันต้อนรับ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ในโอกาสที่ให้เกียรติ เป็นประธานเปิด “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) (U2T)” ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจัดโดย มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และตำบลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในการนี้ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดร้อยเอ็ด ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อร่วมดำเนินโครงการ จำนวน 100 คน จาก 5 ตำบล เข้ารับการปฐมนิเทศโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ในครั้งนี้
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน สามารถสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ลงมือปฏิบัติได้จริง นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของแต่ละตำบล พร้อมต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบขยายต่อในพื้นที่ตำบลอื่น ๆ ตามลำดับ รวมถึงการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนรองรับผลกระทบจากโควิด-19 (COVID-19) ให้สามารถใช้ชีวิตที่มีความสุขแบบปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้กล่าวกับผู้เข้ารับการอบรมว่า สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เป็นโอกาสในการพัฒนาและทบทวนตัวเอง โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการจ้างงานเท่านั้นแต่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ได้ด้วย การทำการเกษตรสมัยใหม่ต้องรู้จักการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ต้องเรียนรู้และสามารถนำดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมกับงานและพื้นที่ (Digital literacy) ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นความหวังของครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาคอีสานและประเทศชาติ
หลังจากนี้ จังหวัดร้อยเอ็ด (กระทรวงมหาดไทย) จะร่วมมือในทุกมิติกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ดฯ (กระทรวง อว.) และทุกภาคส่วนเพื่อสร้าง “นักรบแห่งทุ่งกุลาร้องไห้” เพื่อพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร พร้อมช่วยพี่น้องประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน โดยขอให้ผู้ร่วมโครงการยึดหลักแนวทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 ความว่า “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เป็นแนวทางการดำรงชีวิตเพื่อความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป ทั้งสองท่านกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้
เรียบเรียง : จิตสุภา ประหา