มทร.อีสาน ร่วมกับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจัดโครงการ กยศ. รวมใจปันโลหิตต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ปีที่ 10

วันที่ 28 กันยายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มอบหมายให้กองพัฒนานักศึกษา งานบริการ สวัสดิการนักศึกษาและสุขภาพอนามัย แผนกงานกองทุน ร่วมกับ เหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จัดโครงการ กยศ. รวมใจปันโลหิตต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ปีที่ 10 ณ หอประชุมวทัญญู ณ ถลาง มทร.อีสาน นครราชสีมา ทั้งนี้ มีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา เข้าร่วมบริจาคเลือดเป็นจำนวนมาก
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อปลูกฝังให้บุคลากร และนักศึกษา รู้จักการเสียสละและการแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่ง“การบริจาคโลหิต” คือ การสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หางกไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ ทั้งนี้ การเก็บโลหิตจะบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค โดยการบริจาคโลหิต 1 ถุง ผู้บริจาคจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถึง 3 คน

ยุพาพรรณ คนกระโทก / ข่าว

ชมรม RMUTI PR CLUB / ภาพ