มทร.อีสาน ร่วม สภาวัฒนธรรมโคราช จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ สืบทอดภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา

          วันที่ 18 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และเครือข่ายกลุ่มศิลปินเครื่องปั้นดินเผาอีสาน            จัดโครงการโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการสร้างสรรค์ประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา (The Workshop Project of Dan Kwan Pottery Wisdom Inheritance Promotion and Spreading Local Culture and Arts Through The Creation of Pottery Sculptures.) ในระหว่างวันที่ 18- 20 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีหน่วยงานใน มทร.อีสาน ร่วมกันดำเนินโครงการอย่างดียิ่ง ได้แก่  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ สาขาการท่องเที่ยวและการบริการ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ศูนย์วัฒนธรรม มทร.อีสาน กองพัฒนานักศึกษา  สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.อีสาน  โดยมี อาจารย์มงคล กลิ่นทับ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มทร.อีสาน เป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรวัฒน์ จันทร์สว่าง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดโครงการ และได้รับเกียรติจากนางเอมอร ศรีกงพาน ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับผู้ร่วมโครงการพร้อมมอบของที่ระลึกแก่ประธานในพิธีเปิด และคุณชลธิชา  ชัยวัฒน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนภูชีวกะ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ในจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวน 50 คน ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการเพื่อให้ความรู้และแนวทาง พร้อมร่วมสร้างสรรค์ผลงานจำนวนกว่า 30 ท่าน  นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พล.ต.อรรถชัย รักษาศิลป์ ผู้บัญชาการมนฑลทหารบกที่ 21 ดร.ณัฐวัฒน์ วงษ์เชาวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์เชาวลิตกุล นายพัฒฑิพงษ์  สิทธิเวชสวรรค์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ร่วมในพิธีเปิดด้วย

สำหรับโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติตลอดระยะเวลา 3 วัน และเผยแพร่ผลงานในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ 7 วัน ได้แก่ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชุด “รำโทนโคราช” การบรรยาย เรื่อง “วิวัฒนาการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนกับการสร้างสรรค์และการออกแบบผลิตภัณฑ์” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เด่น  รักซ้อน อาจารย์สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสร้างสรรค์มทร.อีสาน ภาคปฏิบัติ “การสร้างสรรค์และการออกแบบประติมากรรมแบบมีส่วนร่วม” โดย อาจารย์ ดร.รักชาติ กลิ่นกล้า คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรวัฒน์ จันทร์สว่าง อาจารย์สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสร้างสรรค์มทร.อีสาน กิจกรรม “การเคลือบ เผา เทคนิครากุ การแสดงผลงาน ศิลปะอาหาร บนภาชนะดินเผา โดย คุณชลธิชา ชัยวัฒน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนภูชีวกะ กิจกรรม “สร้างสรรค์งานศิลปะประติมากรรมดินเผา (Workshop) ” ของนักเรียน นักศึกษาผู้เข้าร่วมการอบรม การร่วมชมผลงานสร้างสรรค์จากกลุ่มศิลปิน และอาจารย์ที่ร่วมโครงการ การร่วมชมเทคนิคการเผาและการเปิดเตาเผารากุ  

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรวัฒน์ จันทร์สว่าง ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการสืบทอดภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการสร้างสรรค์ประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา มีความประสงค์นำเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในปี 2562 ประเภทงานช่างฝีมือดั้งเดิมมานำเสนอในรูปแบบผลงานศิลปกรรม ประเภทประติมากรรมดินเผา ที่บอกเล่าเรื่องราวของภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ภายในจังหวัดนครราชสีมา เผยแพร่ทั้งในรูปแบบนิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ นิทรรศการออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ สู่สาธารณชนในวงกว้างทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค ประเทศและสากล เป็นจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่ง ที่จะได้นำความรู้จากวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถมาแนะนำวิวัฒนาการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน กับการสร้างสรรค์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะได้เป็นความรู้ที่สามารถใช้ต่อยอดความคิดของผู้ที่ได้เข้าร่วมฟังการอบรมในครั้งนี้ที่จะช่วยขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และยังสามารถต่อยอดสู่การเป็นสากลในระดับนานาชาติ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมาให้รู้จักในระดับสากลต่อไป

วราภรณ์  นามบุตร / ข่าว

ไพฑูรย์  เคนท้าว, บารมี  โกนบาง / ภาพ