“อิสราเอลโมเดล ณ ทุ่งกุลาร้องไห้” รองรับแรงงานไทยจากอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ด้วยระบบนิเวศเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเชิงพื้นที่

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เตรียมความพร้อม “อิสราเอลโมเดล ณ ทุ่งกุลาร้องไห้” สร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเชิงพื้นที่ พร้อมที่พักรองรับแรงงานไทยจากอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม ร่วมพัฒนาหลักสูตรแรงงานสมรรถนะสูง จากประสบการณ์ทางเกษตรของแรงงานไทยในอิสราเอล บูรณาการกับองค์ความรู้ วิจัย และบริการวิชาการ ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านทูตพิริยะ เข็มพล และท่านทูตจักร บุญ-หลง ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางพัฒนาโครงการอิสราเอลโมเดล ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์นัฐวุฒิ ทิพย์โยธา รองอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมและพัฒนากิจการมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ติณกร ภูวดิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ, นางสุมัธยา กิจงาม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน พร้อมคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ นำเสนอแผนสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างต้นแบบศูนย์อบรมแรงงานคุณภาพสูงไทย-อิสราเอล โดยตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับมาจากอิสราเอลได้มีที่ทำกินและถ่ายทอดประสบการณ์จากอิสราเอลมายังพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ใช้เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยรุ่นใหม่ที่จะไปทำงานในอิสราเอล และประเทศอื่นๆ หรือเกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากอิสราเอลมาประยุกต์ในแปลงเกษตรของตนเอง และเป็นประโยชน์กับนายจ้างอิสราเอลที่ไม่ต้องเสียเวลามาฝึกแรงงานไทยหากแรงงานไทยจะไปทำงานที่อิสราเอลหลังจากสงครามยุติ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑.เพื่อสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเชิงพื้นที่ พร้อมที่พักรองรับแรงงานไทยจากอิสราเอล ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

๒.เพื่อเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากแรงงานไทยในอิสราเอลให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ภาคอีสาน และประเทศไทยตามลำดับ

๓. เพื่อสร้างอาชีพให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอิสราเอล

๔.เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมแรงงานไทยสมรรถนะสูงก่อนกลับไปทำงานที่อิสราเอล และต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ มีความพร้อมและศักยภาพสูงในเชิงพื้นที่ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นกลไกในการพัฒนาพลิกฟื้นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ-เศรษฐกิจพอเพียง” โดยการนำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และหลักการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model)   เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สืบไป

ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี / ข่าว