มทร.อีสาน ร่วมรายการ “สวัสดีโคราช” ให้ข้อมูลความคืบหน้าการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port) ในจังหวัดนครราชสีมา สร้างความเข้าใจและแจงประโยชน์ในการจัดตั้ง

          วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร มอบหมายให้ อาจารย์ ดร.จารุพงษ์ บรรเทา ผู้ช่วยอธิการบดี  ร่วมสัมภาษณ์ในรายการ “สวัสดีโคราช” ประเด็นความคืบหน้าของการก่อสร้างท่าเรือบก ในจังหวัดนครราชสีมา ออกอากาศทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นครราชสีมา FM 105.25 MHz. และทาง Facebook Live: KoratRadio กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินรายการโดย คุณยุพาพาล ศรีบุตร ณ  สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา

          ด้าน อาจารย์ ดร.จารุพงษ์ บรรเทา ผู้ช่วยอธิการบดี  ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันการนำเข้าและขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศมีปริมาณมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรและการกระจายสินค้า ซึ่งเดิมเรามี ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นจุดรับ – ส่ง สินค้าและกระจายสินค้าเพื่อส่งต่อ และก็ไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บ พักคอยสินค้า และกระจายส่งต่อ ทางภาครัฐจึงได้มีแนวคิดในการจัดหาพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยในช่วงแรกเริ่มหลังจากมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ทำให้เกิดการสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง หรือ ICD ลาดกระบัง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง ความหนาแน่นในการกระจายสินค้าได้มากนัก ทางรัฐบาลจึงได้มอบให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการศึกษาและจัดหาพื้นที่เหมาะสมในการจัดตั้งท่าเรือบกไว้รับสินค้าเบื้องต้น โดยในช่วงปี 2560 – 2561 ได้มีการศึกษาและพิจารณาไว้ 4 แห่ง คือ ภาคตะวันออก คือ จ.ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมาและจ.ขอนแก่น  ภาคกลาง คือ จ.นครสวรรค์ ซึ่งจะใช้ระบบรางในการขนส่งเป็นหลักและใช้หัวรถลาก เป็นตัวขนส่งตู้สินค้าเหล่านั้นมายังพื้นที่ที่กำหนดในแต่ละแห่ง ซึ่งนักธุรกิจ และผู้ประกอบการในจังหวัดนครราชสีมาและภาคอีสานตอนล่าง จะสามารถใช้ท่าเรือบก (Dry Port) ใน จ.นครราชสีมา เพื่อพักคอยสินค้า ก่อนส่งสินค้าทางระบบรางไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกต่อไป ซึ่งจะมีกระบวนการในการปิดตู้ คิดภาษีจะเสร็จที่ท่าเรือบกในแต่ละแห่ง ที่มาของการพิจารณาจังหวัดนครราชสีมาเพื่อจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port) น่าจะมาจาก จ.นครราชสีมา มีสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายประเภท อาทิ แป้งมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล ซึ่งมีปริมาณมากและต้องใช้การขนส่งปริมาณมาก และเพื่อประหยัดงบประมาณในการขนส่งสินค้า โดยคาดการว่าในปี 2567 นี้ ทางการท่าเรือ จะเข้ามาศึกษาพื้นที่ที่โคราชอย่างจริงจัง  โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เข้าไปมีบทบาทในการร่วมเป็นที่ปรึกษา เรื่อง การศึกษาพื้นที่และสำรวจพื้นที่การจัดตั้งท่าเรือบก มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งทำงานร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และส่งให้สนข. ศึกษาเพิ่มเติม และหลังจากผลการศึกษาของ สนข. ออกมา ทางจังหวัดก็มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยจะพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่

1.ประเด็นด้านพื้นที่จัดตั้ง ซึ่งโคราชมีพื้นที่เหมาะสมถึง 3 แห่ง ได้แก่ หนองไข่น้ำ กุดจิก และ ทับม้า จะเลือกพื้นที่ใด

2.ประเด็นเรื่องการขนส่ง ซึ่งการท่าเรือและการรถไฟจะมีการร่วมมืออย่างไร

3. ประเด็นการร่วมมือกับสายเดินเรือกับผู้ประกอบการภาคอีสาน ที่จะแสดงให้เห็นว่าโคราชมีความพร้อมอย่างไร

          ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 – 2572  ซึ่งประโยชน์ที่ประชาชนและผู้ประกอบการในจังหวัดและผู้ประกอบการภาคอีสาน จะได้รับ ได้แก่ การลดต้นทุนในการขนส่งเพราะการขนส่งทางรางจะมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนน  การสร้างตำแหน่งงานให้แก่คนในพื้นที่ และการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ และขอเชิญชวนประชาชนชาวโคราชเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบจากการจัดตั้งท่าเรือบก ในกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งจะมีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ในช่องทางสื่อบุคคล สื่อมวลชน สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว

บารมี โกนบาง / ภาพ