ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ทางศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มทร.อีสาน ได้ทำการสำรวจ มทร.อีสาน โพล เรื่อง “การรับมือการแพร่ระบาด COVID-19 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564” จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 626 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุ 21-30 ปี และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท ซึ่งผลการสำรวจชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นด้านการจัดกิจกรรมปีใหม่นั้น ร้อยละ 30 เลือกที่จะพักผ่อนกับครอบครัว/กลับภูมิลำเนา ร้อยละ 27 ยังคงทำงานในช่วงวันหยุด ส่วนร้อยละ 20.6 เลือกเก็บตัวอยู่ภายในที่พัก/ดูหนัง/ฟังเพลง และมีส่วนน้อยที่เลือกออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่นั้นยังมีความกังวลในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้ ซึ่งร้อยละ 21.7 คำนึงถึงความมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมของประชาชน อีกทั้งยังตามมาด้วยความกังวลทางด้านการเงินและเศรษฐกิจ ถึงร้อยละ 20.8 และสุดท้ายอีกร้อยละ 16.8 ยังคงให้กังวลกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ไม่เข้มแข็ง ทำให้ยอดการติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ตามแถลงการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่ายอดผู้ติดเชื้อในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ถึง วันที่ 3 มกราคม 2564 นั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อจากในประเทศ โดยหากมีการแพร่ระบาดของไวรัสเพิ่มขึ้นในวงกว้างมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งผลการสำรวจแบบสอบถามด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า อันดับแรกที่จะเกิดขึ้นคือผลกระทบด้านอุปสรรคในการทำงาน/การเรียน ร้อยละ 26.7 ตามมาด้วยความไม่ปกติในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้อยละ 26.5 และอีกร้อยละ 15 เห็นว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตได้ นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เป็นเทศกาลแห่งความสุข และเป็นเทศกาลแห่งการให้การแบ่งปัน ซึ่งสิ่งที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามอยากได้จากรัฐบาลที่สุด คือ การแก้ไขปัญหาโควิด-19 หรือการจัดหาวัคซีนให้ประชาชน รองลงมา คือ การมีมาตรการเยียวยาอย่างตรงกลุ่ม และการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ส่วนสิ่งที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามอยากมอบให้กับตนเองในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้มากที่สุด คือ สุขภาพที่ดีของตนเองและครอบครัว อันดับที่สอง คือ มีเงินทองและไม่มีหนี้ และสุดท้าย คือ ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ท้ายนี้การที่เราจะผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ไปได้อีกครั้ง ผู้ตอบแบบสอบถามยังได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้ว่า อันดับแรก ประชาชนควรมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม อันดับสอง ควรมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เด็ดขาด อันดับสาม ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเพื่อรับมือกับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสุดท้าย รัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยาให้กับกลุ่มเปราะบางอย่างจริงจัง ซึ่งหากเราทุกคนร่วมมือกันป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ผมเชื่อมั่นว่านั่นเป็นหนทางแรกที่เราทุกคนสามารถปฏิบัติได้และยังเป็นการลดการแพร่ระบาดได้ในท้ายที่สุดครับ ผศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าว : จิตสุภา ประหา
ที่มา : ศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ
หมายเหตุ : สื่อมวลชนสามารภนำข่าวไปเผยแพร่โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า