คณาจารย์สาขาวิชาออกแบบเซรามิก มทร.อีสาน ร่วมสืบสานการปั้นดินเผาด่านเกวียน โดยสร้างสรรค์ผลงานร่วมจัดแสดงในนิทรรศการประติมากรรมโฮมดิน ม.ขอนแก่น

วันที่ 3 มีนาคม 2564 คณาจารย์สาขาวิชาออกแบบเซรามิก คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน ร่วมพิธีร่วมพิธีเปิดนิทรรศการประติมากรรมโฮมดิน ณ​ ลานประติมากรรมกลางแจ้งหอศิลปวัฒนธรรม​ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม​มหาวิทยาลัยขอนแก่น​ โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นประธานเปิดนิทรรศการการ ซึ่งมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ และมี รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน

สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการประติมากรรม “โฮมดิน” ครั้งที่ 1 จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาและศิลปินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างผลงานประติมากรรมของคณาจารย์ นักศึกษาและศิลปิน ในระหว่างวันที่ 18-23 ธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลา 5 วัน ณ แหล่งเรียนรู้ทางด้านเครื่องปั้นดินเผาระดับประเทศ ชุมชนด่านเกวียน ตำบลโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งรวมสถาบันการศึกษาจำนวน 8 สถาบัน ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 4. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 5. มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 6. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 7. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 8. มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และศิลปินมีชื่อเสียงในระดับประเทศ ศิลปินร่วมสมัยด่านเกวียนและศิลปินอิสระ จำนวนรวมกว่า 50 คน มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงบูรณาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้านการปั้นดินซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิมของชาวอีสาน ให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาและร่วมสืบสานอนุรักษ์และพัฒนาให้คงอยู่ได้ต่อไป

โดยภายในงาน คณาจารย์จากสาขาวิชาออกแบบเซรามิก คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน ได้สร้างสรรค์ผลงานจากการปั้นดินเผาเข้าร่วมจัดแสดง จำนวน 8 ผลงาน ดังนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรวัฒน์ จันทร์สว่าง

ชื่อผลงาน : Universe

แนวความคิด : การโคจรของสรรพสิ่งที่ตั้งมั่นอุดมปัญญาคงไม่ใช่เหตุผลบังเอิญที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม แต่คือความจริงที่สะท้อนความงดงามทางอุดมคติทางคุณวัฒนธรรมและคุณปัญญาของพลังศาสตร์และศิลป์เพื่อบันทึกเป็นอารยธรรมในประวัติศาสตร์ช่วงปี 2020

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เด่น  รักซ้อน

ชื่อผลงาน : ตกไห (parachute)

เทคนิค : ขึ้นรูปแบบประติมากรรม ด้วยเนื้อดินด่านเกวียน, เอนโกบด้วยดินขาว เผาอุณหภูมิ 1,050 องศาเซลเซียส

แนวความคิด : แบบอย่างแนวคิดทางภูมิปัญญาของคนในชนบทที่ใช้เป็นภาชนะหมักดองอาหาร ที่เรียกว่า ไหปลาร้า มีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานในท้องถิ่น บ่งบอกถึงลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย โดยใช้ไหสำหรับถนอมอาหารไว้กินในระยะเวลาหนึ่ง และด้วยความเป็นกันเองยามเมื่อคิดถึงความตลกของบางสิ่งบางอย่างที่จะเข้าไปอยู่ในไหได้นั้น ทำให้รู้สึกถึงเรื่องเล่าในวงกินข้าวของครอบครัวที่ล้อมวงเล่าถึงความตลกขบขันที่หาได้ในวิถีที่เรียบง่าย เก็บเกี่ยวเป็นเรื่องราว  ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยมาพูดคุย ในบทสนทนา ความสุขจากการได้ฟังก็ยังเกิดขึ้นได้ และเป็นภาพนั้นๆที่ยังคิดถึงเรื่องราวดีๆในช่วงเวลานั้นเสมอมาและทุกครั้งนั้นทำให้อมยิ้มได้อย่างมีความสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัชรินทร์  แซ่เตีย

ชื่อผลงาน : แมว..เด้อ (Cat)

เทคนิค : ขึ้นรูปแบบประติมากรรม ด้วยเนื้อดินด่านเกวียน เผาอุณหภูมิ 1,050 องศาเซลเซียส

แนวความคิด : แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดและสนิทสนมกับมนุษย์มาเนิ่นนาน  เป็นสัตว์เลี้ยงเล่นหรือเป็นสัตว์มงคลที่นิยมเลี้ยง เพื่อเสริมสร้างบารมีของมนุษย์ตามความเชื่อ ซึ่งในความคิดของข้าพเจ้า แมวเป็นเพื่อนสนิท มีความเข้าใจ มีความผูกพันโดยไม่ต้องพูดหรืออธิบาย แมวนั้นให้กำลังใจ ทำให้ผ่อนคลาย รับฟังทั้งเรื่องทุกข์และเรื่องสุข แมวทำให้คิดถึง ทำให้รู้สึกรัก ชอบ โกรธ หลงได้ และทำให้รู้ถึงความรับผิดชอบที่ต้องดูแลอะไรหลายๆอย่างในสิ่งมีชีวิตหนึ่ง และไม่มีวันไหนที่จะไม่คิดถึงเธอ…แมวเด้อ..

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราชา  ธงภักดิ์

ชื่อผลงาน : The position of woman

เทคนิค : ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน/ดินด่านเกวียน

แนวคิด : ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงผู้หญิงและน้ำเต้าที่แสดงถึงความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์

อาจารย์ปอยหลวง บุญเจริญ

ชื่อผลงาน : ค้ำคูน (Kam-Koon)

แนวคิด : สร้างสรรค์ผลงานผ่านต้นดอกคูน และคำว่า “ค้ำคูน” อันเป็นสัญลักษณ์ที่คนแก่เฒ่าชาวอีสานมักใช้อวยพรแก่ลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า มั่งคง

อาจารย์ณัฏฐริกา  กงสะกุ

ชื่อผลงาน : isan girl / สาวอีสาน

เทคนิค : สกาฟิโต

แนวคิด : วัฒนธรรมการทอผ้าของชาวอีสานมีรากเหง้ามาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และการทอผ้าถือเป็นวิถีชีวิตของหญิงชาวอีสานที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน พิธีการทางศาสนา และยังเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความพร้อมของหญิงสาวในการออกเรือน

อาจารย์นันทนา ทองดี

ชื่อผลงาน : Aspect of life

แนวคิด : Aspect of life มีแนวคิมาจากการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ที่มีการแสดงออกทางความคิดและการกระทำในแง่มุมที่หลากหลาย ต่างคนต่างเหตุผล ต่างคนต่างมุมมอง ซึ่งเราไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูกผิด แต่เราควรรับฟังเเละเข้าใจเหตุผลนั้นเสียดีกว่า ดังนั้นผู้ออกแบบจึงใช้องค์ประกอบของลายเส้น ทำให้เกิดเหลี่ยมมุมที่หลากหลาย สื่อถึงความคิดและการกระทำของผู้คนในรูปแบบที่ต่างกัน รวมถึงรูปทรงของผลงานที่ส่วนบนสุดของปากแจกันนั้นไม่เรียบตรงเสมอกัน ทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถตัดสินใครได้ เพราะชีวิตของคนเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ และชีวิตนั้นไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว

ทั้งนี้สำหรับผลงานที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการในครั้งนี้ทุกชิ้น ทางศูนย์ศิลปวัฒนธรรม​มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะนำมาไปติดตั้งถาวร ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ผู้สนใจได้เข้าเยี่ยมชมความงดงามและคงคุณค่าของผลงานแต่ละชิ้นให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป

ข่าว : จิตสุภา ประหา
ที่มา : สาขาวิชาออกแบบเซรามิก มทร.อีสาน