อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา สำเร็จการศึกษา ปริญญาพาณิชยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ปริญญาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2502 ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2517 และได้รับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบัญชี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2555
อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา เริ่มรับราชการในตำแหน่งครูตรี วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2501 หัวหน้าคณะวิชาบริหารธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2518 ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2526-2528 และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532 จนเกษียนอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาเขต ระดับ 9 ในปี 2537
อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา ได้รับรางวัลเกียรติคุณ เป็นครูที่อุทิศตนเพื่อคุณธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพครู เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่มีผลงานดีเด่น ได้รับรางวัลจากคุรุสภา ในปี พ.ศ. 2533 ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการคุรุสภา อำเภอเมือง นครราชสีมา ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2534 และในปีเดียวกันนั้น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) ได้รับการยกย่องให้เป็น “คนดีศรีสังคม” จากมูลนิธิ ศาสตราจารย์ประภาศ อวยชัย ในปี พ.ศ. 2536 ได้รับการยกย่องจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ว่าเป็นผู้เสียสละ อุทิศตน และทำคุณประโยชน์ต่อสถาบัน และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ในปี พ.ศ. 2537
นับตั้งแต่เมื่อครั้งพระครูอนุกูลสิกขภูมิ (ทองมาก อโสโก) เจ้าอาวาสวัดโตนด เจ้าคณะตำบลหนองระเวียง ร่วมกับชาวบ้านตำบลหัวทะเล ตำบลมะเริงและตำบลหนองระเวียง ยกที่ทำกินและบริจาคที่ดิน จำนวน 2500 ไร่ ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ดร.ธนู แสวงศักดิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ เป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2512 และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็น “ศูนย์ฝึกวิชาชีพภาคสนาม” ของวิทยาลัยฯ (ศูนย์ฝึกฯ หนองระเวียง)
ในปี พ.ศ. 2532 ภายใต้การบริหารงานของ อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา ผู้อำนวยการวิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ผอ.ประไพศรี สนับสนุนโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (อีสานเขียว) ให้นักศึกษาของวิทยาเขตฯ ร่วมกันปลูกป่าในศูนย์ฝึกฯหนองระเวียง ทุกวันจันทร์ ทุกสัปดาห์ติดต่อกัน และได้เพาะกล้าไม้แจกจ่ายหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกในโครงการอีสานเขียว จำนวน 200,000 ต้น จนในปี พ.ศ. 2538 วิทยาเขตฯ ได้รับงบประมาณในการปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา มะม่วงหิมพานต์ มะขามหวาน กำหนดพื้นที่ปลูก 800 ไร่ ส่งผลให้วิทยาเขตฯ มีรายได้จากน้ำยางพาราในภายหลัง
ปี พ.ศ. 2535 อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา ได้ระดมทุนจัดสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนม์มายุ 60 พรรษา ขึ้นในศูนย์ฝึกฯ หนองระเวียง โดยเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติขนาดพื้นที่ 200 ไร่
จากนั้น อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา ได้ขอพระราชทานสนองพระราชดำริ ใช้พื้นที่ 1,000 ไร่ ในศูนย์ฝึกฯ หนองระเวียง ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในกิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช เพื่อใช้เป็นที่ศึกษา วิจัย และใช้ประโยชน์จากพืชพรรณ
ในปี พ.ศ. 2536 ศูนย์ฝึกฯ หนองระเวียง พบปัญหาการบุกรุก ผอ.ประไพศรี จึงดำเนินการจัดสร้างรั้วคอนกรีตขึ้นโดยรอบพื้นที่ 2,500 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก ทั้งยังให้คนรุ่นหลังได้ทราบขอบเขตพื้นที่อีกด้วย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกฉียงเหนือ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วินิจ โชติสว่าง เป็นอธิการบดีท่านแรก ท่านได้ทำการพัฒนาพื้นที่หนองระเวียงและสนับสนุนการดำเนินโครงการ อพ.สธ. โดยมีอดีตผู้อำนวยการ ดร.ประไพศรี สุภา เป็นที่ปรึกษาโครงการ และได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ ของโครงการ อพ.สธ. “ทรัพยากรไทย ก้าวสู่โลกกว้างอย่างมั่นใจ” ระหว่างวันที่ 1 – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดการประชุมวิชาการฯ ทำให้ศูนย์ฝึกฯ หนองระเวียง มทร.อีสาน มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในวงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ รักษาราชการแทนอธิการบดี และในปี พ.ศ. 2556 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้มีการพัฒนาพื้นที่หนองระเวียง สำหรับสนับสนุนกิจกรรมของโครงการ อพ.สธ.มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอดีตผู้อำนวยการ ดร.ประไพศรี สุภา ทำหน้าที่ที่ปรึกษาโครงการเรื่อยมา และได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ ของโครงการ อพ.สธ. อีกครั้งหนึ่งในชื่อ “ทรัพยากรไทย ชาวบ้านไทยได้ประโยชน์” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562 นอกจากนี้ศูนย์การศึกษาหนองระเวียงได้รับการพัฒนาทั้งอาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ อาคารสนับสนุนการศึกษาด้านต่างๆ จนมีความพร้อม จึงเปิดการเรียนการสอนสำหรับวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพและระดับปริญญาในบางสาขา บนพื้นที่ศูนย์การศึกษาหนองระเวียงตั้งแต่ปีการศึกษา 2563
อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ที่ทุ่มเทในการพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าและโดยเฉพาะท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการรักษาพื้นที่ 2,500 ไร่ ให้ดำรงคงอยู่ จนสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่การศึกษาที่สมบูรณ์ และเปิดการเรียนการสอนได้ในปัจจุบัน อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา ได้รับการแต่งตั้งจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ให้เป็นที่ปรึกษาและประสานงานโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ทั้งยังมีคำสั่งสำนักพระราชวัง ที่ 50/2541 ให้อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้แต่งตั้งท่านให้เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาการศึกษาและโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของมหาวิทยาลัย และ ปี พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยฯ ได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มทร.อีสาน อีกด้วย
ด้วยเกียรติประวัติอันทรงคุณค่า ความทุ่มเทเสียสละและคุณูปการดังกล่าวของ อาจารย์ ดร.ประไพศรี สุภา อดีตผู้อำนวยการวิทยาเขตภาตตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ที่มีต่อศูนย์ฝึกวิชาชีพภาคสนาม จนพัฒนามาเป็นศูนย์การศึกษาหนองระเวียงในปัจจุบันนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ครั้งที่ 3/2564 จึงมีมติเห็นชอบให้กำหนดชื่อหอศูนย์ประชุมหนองระเวียง เป็น “หอประชุมประไพศรี สุภา”
ที่มา : อาจารย์สรวิศ ต.ศิริวัฒนา
เผยแพร่ : จิตสุภา ประหา