มทร.อีสาน กับอีกบทบาทขับเคลื่อนสังคม Smart City ตั้งต้นจัดการบริหารขยะในโคราชให้เป็นศูนย์

วันที่ 29 มีนาคม 2564 อาจารย์วรเมธ ศิริจินตนา และ อาจารย์ธัญนาฏ ญาณพิบูลย์ เป็นตัวแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ร่วมประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม โดยในการประชุมนี้ มทร.อีสาน ได้นำเสนอความก้าวหน้าในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ภายใต้แผนงานเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City กับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีสำนักงานจังหวัดนครราชสีมาเป็นแกนหลัก และมีสำนักงานสถิติจังหวัดนครราชสีมาเป็นเลขานุการดำเนินการร่วมกัน

ทั้งนี้ มทร.อีสาน ได้วางบทบาทของสถาบันฯ ให้เป็นต้นแบบศูนย์กลางข้อมูลเมือง ภายใต้นิยาม ศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง (Urban Informatics Center) ขับเคลื่อนโดยหน่วยขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City Driving Unit : SCDU) สังกัดสถาบันระบบรางแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ซึ่งปัจจุบันการเตรียมความพร้อมบทบาทนี้ของ มทร.อีสาน ได้รับงบประมาณสนับสนุนมา 2 แหล่ง ได้แก่ 1) งบประมาณแผ่นดิน 2564 จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการต้นแบบศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง (Urban Infrastructure and Platform) โดยการส่งเสริมจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี กับส่วนงานกองนโยบายและแผนของมหาวิทยาลัย และ 2) แหล่งทุนประจำปี 2563 โดยหน่วยบริหารและจัดการกองทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท. หรือ PMU-A) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) ด้วยการส่งเสริมและให้คำปรึกษา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการประกันคุณภาพ ภายใต้โครงการ “การพัฒนากลไกระบบสารสนเทศเมืองเพื่อการวางแผนและพัฒนาเมืองโคราชอัจฉริยะ : กรณีศึกษาสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะด้านขยะเหลือศูนย์” ซึ่งมี ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าโครงการ และได้ความร่วมมือจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฯ หอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับศูนย์วิทยาการสารสนเทศเมือง (Urban Informatics Center) คาดว่าจะสามารถทดลองระบบกลไกสู่ความเป็นเมืองโคราชอัจฉริยะ ได้ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ และเตรียมการต่อยอดขยายผลสู่ความเป็นศูนย์กลางของระบบความเป็นเมืองอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ต่อไป นอกจากนี้จากความพร้อมดังกล่าว สถาบันระบบรางฯ เตรียมพัฒนาหลักสูตรวิทยาการสารสนเทศเมืองและระบบราง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานในอนาคตของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ทั้งด้านโลจิสติกส์และด้านดิจิทัล ภายใต้การบริหารหลักสูตรของสถาบันสหสรรพศาสตร์ มทร.อีสาน ที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิระยุทธ สืบสุข เป็นคณบดี ขับเคลื่อนการบริหารเชิงบูรณาการสหวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ให้กับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของประเทศไทย

ที่มา : ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ
เผยแพร่ : จิตสุภา ประหา