มทร.อีสาน ลงนามความร่วมมือจังหวัดร้อยเอ็ดและภาคีเครือข่าย ร่วมบูรณาการสร้างความร่วมมือฯ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่ 21 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.อนิวรรต  หาสุข ผู้ช่วยอธิการบดี อาจารย์สุบรรณ  ทุ่มมา ผู้ช่วยอธิการบดีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด และคณะฯทีมวิจัยจาก มทร.อีสาน เข้าร่วมเวที “สานพลังแก้จน คนเมืองเกินร้อย”การบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SRA) เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดร้อยเอ็ด ปี 2566 ณ หอประชุม 60 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานปิดงาน พร้อมมอบนโยบาย “การบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ (SRA) เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม จังหวัดร้อยเอ็ด” ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้าร่วมกว่า 50 หน่วยงาน และแบ่งภาคการดำเนินการจัดทำความร่วมมือกันใน 4 เรื่อง ได้แก่

          1. บันทึกความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด)

          2. บันทึกความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อำเภอเป้าหมาย ปี 2566 ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายอำเภอ 7 อำเภอ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด 

          3. บันทึกความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดร้อยเอ็ดระหว่างภาคเอกชน กับมหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด          

          4. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการผลิตและการส่งเสริมการตลาด ระหว่างภาคเอกชน กับมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน  ได้ร่วมการบรรยายเพื่อสานต่อแรงบันดาลใจ “ร้อยเอ็ด ร้อยใจ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน…สู่ความยั่งยืน” ในหัวข้อ “เทคโนโลยีพร้อมเสริม เพิ่มพลังแก้จน” กล่าวว่า มทร.ทั้ง 9 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องของการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการยกระดับชุมชนและผู้ประกอบการ จึงได้มีการกำหนด นโยบายการพัฒนาพื้นที่ด้วยนวัตกรรม ดังนั้น นวัตกรรมพร้อมใช้หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่ทั้ง 9 มทร. ได้สร้างไว้จึงเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ชุมชนและสถานประกอบการ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก ใช้งานง่าย และ เหมาะกับบริบทและอาชีพชุมชนนั้นๆ โดยเอาตัวชี้วัด SDGs และ BCG โมเดล เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มทร.อีสาน เราได้ส่งข้อมูลและผลงานเข้าร่วมการประเมิน SDGs ซึ่ง มทร. อีสาน ตอนนี้ เราอยู่ใน ลำดับที่ 30 ของประเทศ และเป็น ลำดับที่ 1 ของ มทร ทั้ง 9 แห่ง ของการประเมิน SDGs ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนของพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยสังกัดอยู่ สำหรับพื้นที่ ดำเนินการของ มทร.อีสาน ในครั้งนี้ มีจังหวัดที่รับผิดชอบทั้งสิ้น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร และ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในโหนดภาคอีสาน โดยมี ดร.อนิววรต หาสุข ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านงานวิจัยเชิงพื้นที่ บริการวิชาการ และยุทธศาสตร์ เป็นผู้ดูแลโหนดภาคอีสาน ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

          1. การคลี่ Pro-Poor Value Chain ร่วมกับ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ของแต่ละ OM เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์เน้นในเรื่องของ Chain มันสำปะหลังและตะไคร้ จังหวัดมุกดาหาร เน้นในเรื่องของ หม่อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายจังหวัดมุกดาหาร และ จังหวัดร้อยเอ็ด เน้น Chain เรื่องของ ข้าวทุ่งกุลา โคเนื้อ และพืชหลังนา ซึ่ง อาจารย์สุบรรณ์ ทุ่มมา ผู้ช่วยอธิการบดีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ด ได้ร่วมดำเนินการและรายงานผลการดำเนินงานแก่มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

          2. App Tech หรือ การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาใช้ในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ Pain point แล้ว โดยได้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ซึ่งได้ผลและได้ประโยชน์จริง ตัวอย่างเช่น ชุดกระบวนการผลิตถ่านก้อน โดย ดร.เครือวัลย์ มาลาศรี ใช้ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ตู้ตากพลังแสงอาทิตย์และเครื่องหั่นใบหม่อน โดย ผศ.ดร.ไกรศรี ศรีทัพไทย ใช้ในจังหวัดมุกดาหาร หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยต่อซัง หัวเชื้อ PGPR โดย อาจารย์สุบรรณ์ ทุ่มมา ใช้ในจังหวัดร้อยเอ็ด  

          3. Tech Adoption เป็นการให้องค์ความรู้นวัตกรชุมชนให้เข้าใจถึงการใช้และประโยชน์เทคโนโลยีที่เหมาะสม การชักชวนให้มองเห็นประสิทธิผลของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เพื่อพิจารณาถึงการยอมรับและไม่ยอมรับ เทคโนโลยีนั้นๆ รวม ไปถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การยืนยัน การยอมรับเทคโนโลยีที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับบุคลากรในชุมชนหรือนวัตกรชุมชนให้สามารถปรับใช้และต่อยอดการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร. อีสาน กล่าว

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว

ไพฑูรย์ เคนท้าว / ภาพ