มทร.อีสาน ผสานความร่วมมือ บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ร่วมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง

วันที่ 22 มิถุนายน 2566  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอิสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมคณะผู้บริหาร ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก  เจริญภักดี  รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน  รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต  กฤตาคม  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรม และบริการวิชาการ  รองศาสตราจารย์ ดร.สำเนาว์  เสาวกูล   รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ชเวง  สารคล่อง  รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต  นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ อาจารย์ ดร.ประจวบ อินระวงค์  รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเดินทาง ณ ห้องประชุม อาคารโรงงาน บริษัทฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด จังหวัดปทุมธานี โดยได้รับเกียรติจาก คุณรักชัย เร่งสมบูรณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง (Chief Executive Officer & Founder) – Fruita Biomed / Fruita Bio Limited คุณละมุน เร่งสมบูรณ์  ประธานที่ปรึกษา บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด คณะผู้บริหารและบุคลากร บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ร่วมให้การต้อนรับ

          โดยการเดินทางเยือน บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ในครั้งนี้ เพื่อร่วมประชุมหารือ 6 เรื่องหลัก ร่วมกันกับ บริษัทในเครือ ได้แก่ 1. เรื่อง การรับสมัครนักศึกษาฝึกงานและหลักสูตร สหกิจศึกษา กับ บริษัท I Do Fruita  โดยนายฉัตรชัย แป้นโพธิ์กลาง กรรมการผู้จัดการและ Food Stylist  2. เรื่อง วัตถุดิบท้องถิ่น พืช ผัก สมุนไพร แมลง อื่นๆ คุณค่าอาหารสูง GI Organic เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสากล บริษัท Pharma Food Fruita  โดยนายทวีศักดิ์ ตระกูลวัฒนา Chef Executive และ นายสุทัศน์ ขุนทองไพร Chef Executive  3. เรื่อง งาน วิจัยเพาะเลี้ยง ผ า ทั้งระบบปิด เปิด โดย มทร.อีสาน วข.สุรินทร์ และ มทร.อีสาน วข.สกลนคร 4. เรื่อง ปุ๋ยจากแหนแดง ไส้เดือน เพื่อเลี้ยงผำ โดย มทร.อีสาน วข.สุรินทร์ และ มทร.อีสาน วข.ร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ 5. เรื่อง รื้องานวิจัยผงนัว มาพัฒนาและเตรียมวัตถุดิบ โดย ดร.นิภาพร อามัสสา มทร.อีสาน นครราชสีมา, วัตถุดิบผลิต 6 วิทยาเขต 6. เรื่องพืชรสเค็ม ซึ่งจะเริ่มทำการวิจัย เพื่อหาพันธุ์มาปลูกในพื้นที่เค็มอิสาน จังหวัดร้อยเอ็ด และ 7.เรื่อง พื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง โดย มทร.อีสาน นครราชสีมา, มทร.อีสาน วข.สกลนคร, มทร.อีสาน และ มทร.อีสาน วข.ร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้

          ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ซึ่งการลงนามร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการร่วมมือในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด (Agri Waste Optimization) และสร้างมูลค่าจากของเหลือทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต PHA (Polyhydroxylalnakoate) รวมถึงวัสดุทางชีวภาพเพื่อการแพทย์อื่น ๆ โดยจะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตรภายใต้กฎหมายที่ถูกต้องต่อไป

          ซึ่งภายหลังการร่วมประชุมหารือ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) โครงการความร่วมมือในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง ระหว่าง  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และ บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวทาง คำแนะนำทางด้านการความต้องการของตลาดโลก การสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการเกษตร การสร้างผลผลิตที่มีมูลค่า ในการนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร  โดยใช้ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุล ซึ่งลงลึกทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิศวกรรมชีวะการแพทย์ ตลอดจนโครงสร้างต้นทุนเหมาะสม และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่ อันจะก่อให้เกิด การพัฒนาด้านการเกษตร การศึกษาค้นคว้าพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมการสร้างผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง มุ่งสู่ การส่งออกและการค้าระหว่างประเทศภายใต้ พื้นฐานแห่งการร่วมพัฒนาโดยใช้องค์ความรู้อย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้  คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ของ มทร.อีสาน  ยังได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีด้านต่างๆ ภายในโรงงาน บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด อีกด้วย

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว

ไพฑูรย์ เคนท้าว /ภาพ