วันที่ 8 มีนาคม 2564 มทร.อีสาน นำโดย นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย นางสาวจุฬาลักษณ์ พลเสนา ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการประกันคุณภาพ รศ.ดร.พิพัฒน์ อมตฉายา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัยและโครงการพิเศษ ผศ.ดร.อาดา รัยมธุรพงษ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร รศ.ดร.สำเนาว์ เสาวกูล รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ และ ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้อำนวยการสถาบันชุณหะวันเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน Northern science park มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านนวัตกรรมเกษตร
สำหรับ Northern science park หรืออุทยาวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ คือสถานที่ที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกันของภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐบาล เพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่ม มูลค่าการผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และประเทศอุทยานวิทยาศาสตร์นิยามสั้น ๆ ได้ว่า “นิคมวิจัย” ซึ่งมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแม่ข่ายดำเนินงานบริหารจัดการร่วมกับ 13 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคเหนือ
จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้พบว่า อุทยาวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมที่เข้มแข็ง รวมถึงมีเครือข่ายทั้งมหาวิยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชนที่ดำเนินการร่วมกัน โดยมีการสร้างระบบนิเวศน์เชิงนวัตกรรมนำไปสู่การสร้างนิคมวิจัยที่สมบูรณ์แบบ และเป็นสะพานในการเชื่อมโยงและผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพานิชย์ รวมถึงการสนับสนุนและเสริมสร้างเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการวิจัยและพัฒนาของทุกภาคส่วน ซึ่งทางด้าน มทร.อีสาน นั้นมีหน่วยงานที่มีบทบาทและพันธกิจที่คล้ายคลึงกับอุทยาวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ คือ สถาบันชุณหะวันเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน และสถาบันบริการวิชาการแห่ง มทร.อีสาน โดยทั้ง 2 หน่วยงานนี้เป็นหน่วงานภายในที่มุ่งเน้นพัฒนากลุ่ม Start Up หน้าใหม่ให้ประสบความสำเร็จในตลาดการค้า ทั้งสนับสนุนกลุ่มชาวบ้าน อาจารย์ นักวิจัย และผู้สนใจให้สามารถนำไอเดียความคิดมางานวิจัยให้ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งสถาบันบริการวิชาการแห่ง มทร.อีสาน เป็นสถาบันที่มีหน้าที่ที่จะช่วยผลักดันองค์ความรู้ของนักวิจัยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และนำไปใช้ได้นั่นเอง
ทั้งนี้ มทร.อีสาน ได้เห็นถึงความเข้มแข็งและศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จึงได้เข้าศึกษาดูงานเพิ่มเติมและหาแนวทางทำความร่วมมือเพื่อผลักดันนวัตกรรมของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจครอบคลุมถึงการพัฒนาให้แข็งแกร่งอย่างเท่าเทียมกันในทุกภาค เพื่อพัฒนา Start Up ไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจร สู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป
ข่าว : จิตสุภา ประหา
เรียบเรียง :
ภาพ : งานเลขานุการ มทร.อีสาน