มทร.อีสาน ร่วมกิจกรรมเครือข่ายมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพา(ภา) ยามยาก และร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

วันที่ 27 เมษายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ ดร.ชเวง สารคล่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและบุคลากร ให้การต้อนรับ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานการเฝ้าระวังและการเตือนภัย รวมทั้งการฟื้นฟูและการพัฒนาแหล่งน้ำ จากเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่งพา(ภาฯ) ในการนี้ได้รับเกียตริจาก ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ประธานอนุกรรมการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังการเตือนภัย และการบรรเทาทุกข์จากปัญหาอุทกภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(ฝ่ายไทย) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ และร่วมต้อนรับคณะฯ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ทั้งนี้  มทร.อีสาน พร้อมผู้บริหารและคณะดำเนินงานของเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่งพา(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้นำคณะศึกษาดูงานฯ ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์บริหารจัดการน้ำ จังหวัดสกลนคร พร้อมรับฟังบรรยายสรุป เรื่อง การติดตามสถานการณ์น้ำในสภาวะปกติและภาวะวิกฤต เรื่อง การใช้ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการน้ำ จ.สกลนคร เพื่อเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เยี่ยมชมนิทรรศการเครือข่ายมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพา(ภาฯ) ณ กลุ่มทอผ้าบ้านพันนา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร  ชมนิทรรศการเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร รับฟ้งบรรยายสรุปการใช้สถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อการเตือนภัยบริเวณสะพานลำน้ำยาม ผลการดำเนินงานของเครือข่ายฯ และผลการบริหารจัดการน้ำชุมชนตำบลวาใหญ่ โดย สมาชิกเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่งพา(ภาฯ) ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย นอกจากนี้ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ยังได้ศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จำนวน 3 จุด ได้แก่

จุดที่ 1 หนองบ่ออ้อและโครงสร้างทางชลศาสตร์ เพื่อบริหารจัดการน้ำ จุดเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำโดยใช้โครงสร้างทางชลศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสำรองน้ำหลากในฤดูฝนเพื่อไว้ใช้ในฤดูแล้ง

จุดที่ 2 หนองโสกและสำห้วยโสก การดำเนินงานฟื้นฟู พัฒนา และเชื่อมโยงแหล่งน้ำเพื่อการพัฒนาดิน น้ำ ป่า

จุดที่ 3 แปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ของ นายนินทร ประลอบพันธ์ สมาชิกเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่งพา (ภาฯ)  ตำบลวาใหญ่ อำเภออากาศอำนวย

วราภรณ์  นามบุตร  / ข่าว

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร / ภาพ