มทร.อีสาน โดย สถาบันชุณหวัณฯ ส่งไม้ต่อการไฟฟ้า โครงการศักยภาพการจัดการวิสาหกิจชุมชนใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสู่กิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน

          วันที่ 1 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เป็นประธานการประชุมการส่งมอบผลงานโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเรื่อง“การศึกษารูปแบบนวัตกรรมเกษตรแม่นยำเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการวิสาหกิจชุมชนใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสู่กิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน บ้านโนนยาง ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด” โดย สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน เพื่อเสนอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสหชาติ พิลาออน  ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอธิศักดิ์  ภิรมย์ไกรภักดิ์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1  และผู้นำชุมชน 2 พื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะกรรมการโครงการฯ ทั้ง 2 แห่งเข้าร่วมประชุมและรับมอบงาน

          สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเรื่อง“การศึกษารูปแบบนวัตกรรมเกษตรแม่นยำเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการวิสาหกิจชุมชนใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงสู่กิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน บ้านโนนยาง ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด” ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 – 31 มกราคม 2566 โดยได้นำผลงานจากการวิจัยของนักวิจัย มทร.อีสาน มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมปันแสงสู่การทำเกษตรแม่นยำระบบ ioT พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดสมัยใหม่ และส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็นกิจการสังคม สามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ได้จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผักปลอดสารพิษจากนวัตกรรมปันแสง ปุ๋ยอัดเม็ด เคลผง น้ำนมข้าวโพด มันทอดกรอบ มีกิจการที่ได้รับการจดแจ้งเป็นกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (SE) จำนวน 1 กิจการ ได้สร้างวิทยากรชุมชนต้นแบบที่มีทักษะและความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ จำนวน 2 คน มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการวิจัย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเกษตรระบบเดิม นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายถึง 3 ช่องทาง ได้แก่ การขายโดยบุคคล การขายผ่านตัวแทนร้านค้า การขายผ่านสื่อโซเซียลออนไลน์ Facebook : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักใต้แนวเขตไฟฟ้าแรงสูง บ้านโนนยาง อีกด้วย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลา 1 ปี โครงการนี้ ทางสถาบันชุณหวันฯ จึงได้จัดการประชุมเพื่อส่งมอบงานโครงการวิจัยตามสัญญาที่ได้ตกลงกันร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อสานต่อแนวทางการศึกษาวิจัยและดำเนินงานเพื่อพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป  

ไพฑูรย์ เคนท้าว / ภาพ

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว