มทร.อีสาน โดย สถาบันชุณหะวัณฯ จัดรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจของนักลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์

         วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย สถาบันชุณหะวัณฯ จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจของนักลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หริส ประสารฉ่ำ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เป็นตัวแทนกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมงคลประดู่ อาคาร 18 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ โดยมี นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายกรชวาลวิชญ์ ชัยพีรวัส นายอำเภอน้ำพอง, รองประธานหอการค้า, รองประธานสภาอุตสาหกรรม, ผู้นำองค์กรภาครัฐและเอกชน, นักธุรกิจและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้นจำนวน 85 คน แบ่งเป็น การท่าเรือแห่งประเทศไทย 20 คน, หน่วยงานภาครัฐฯ 18 คน และหน่วยงานเอกเชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการ ประกอบด้วย กลุ่มนักลงทุนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาใช้บริการกลุ่ม,ผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ, และกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ 47 คน

         ด้าน นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “งานการประชุมรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ในวันนี้ จากคำกล่าวรายงานของรองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่าโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Ory Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเป็นโครงการที่สำคัญที่ช่วยในการสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเศรษฐกิจของประเทศ ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดขอนแก่นนับเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญของภาคอีสานซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น MICE CTY แห่งที่ 5 ของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มีดีมานด์ และซัพพลายของสินค้าและการขนส่งสินค้าทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (เข่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และน้ำตาล) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมโลหะ และอโลหะ นอกจากนี้จังหวัดขอนแก่นยังมีความพร้อมอย่างยิ่งทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในภูมิภาคและการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างไร้รอยต่อได้”

ทั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนอผลการดำเนินงานในขั้นต้น อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญญาพร ดวงสา ผอ.สถาบันชุณหะวัณฯ มทร.อีสาน เป็นตัวแทนกล่าวถึงความเป็นมา วัตถุประสงค์ รวมถึงขอบเขตในการศึกษา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธน คงศักดิ์ตระกูล เป็นตัวแทนนำเสนอการศึกษาความเหมาะสมทางด้านกายภาพ และการออกแบบเบื้องต้นในพื้นที่โครงการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน เป็นตัวแทนนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม และมี นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ร่วมให้ข้อมูลในภาพรวมเพิ่มเติมในฐานะที่ปรึกษาโครงการ หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งโรงงานน้ำตาลมิตรผล โรงงานน้ำตาลขอนแก่น บริษัทสายเรือ บริษัทด้านโลจิสติกต์ เป็นต้น

           สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นประกอบการทดสอบความสนใจของนักลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นโครงการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ที่สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อน และสนับสนุนการขนส่งหลายรูปแบบเชื่อมโยงการขนส่งทางบกและทางน้ำอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) และรองรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งการจัดประชุมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความสนใจของกลุ่มนักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่จะมาใช้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการ ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯดังกล่าว ได้ผลสรุปของการประชุมทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 ความเหมาะสมด้านกายภาพ (Size Selection)
    กลุ่มนักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่จะมาใช้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขนส่งทางรถ การขนส่งทางราง และการขนส่งทางเรือ มีส่วนเข้ามาร่วมสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาท่าเรือบก และให้ความสำคัญในระดับภูมิภาค ทั้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หรือจังหวัดใกล้เคียง และรวมไปถึงระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง ด้านต้นทุนในการขนส่งและระยะเวลาในการขนส่ง ด้านความต้องการ (Demand) ของภาคธุรกิจในภูมิภาค โดยสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้การสนับสนุนกับการเกิดขึ้นของท่าเรือบกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

  • ประเด็นที่ 2  การออกแบบเบื้องต้นในพื้นที่โครงการ (Preliminary Design)
    กลุ่มนักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่จะมาใช้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต้องการให้มีออกแบบสถาปัตยกรรมของท่าเรือบกให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรมของจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ ควรมีหน่วยงานศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการทำพิธีการศุลกากร และควรมีการกำหนดพื้นที่ Industrial Zone เพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาท่าเรือ อีกทั้งควรมีการกำหนดพื้นที่ Free Zone เพื่อจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการประกอบกิจการในพื้นที่ และเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติ ตลอดจนควรมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับท่าเรือบก

  • ประเด็นที่ 3 ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม กลุ่มนักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่จะมาใช้บริการ กลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งทางน้ำ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เห็นด้วยกับการลงทุนในการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (Joint Venture) เนื่องจากภาคธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นมีศักยภาพและพร้อมสนับสนุนการเกิดขึ้นของท่าเรือบก

         โดยการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และผลสรุปจากการประชุมดังกล่าว ทางหน่วยงานที่เกี่ยงข้องจะนำผลดังกล่าว มาเป็นข้อมูลประกอบรูปแบบการลงทุนที่ความเหมาะสมของการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อไป

สถาบันชุนหะวัณฯ มทร.อีสาน / ภาพและข่าว

อมรเทพ ดอกสันเทียะ / เรียบเรียง