วันที่ 5 กันยายน 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เป็นประธานเปิดโครงการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ Gap Analysis ตามเกณฑ์ AUN-QA ซึ่งจัดโดย งานประกันคุณภาพและประเมินผล สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โดยมี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐฏ์คณิน ศุภเมธานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการฯ ทั้งนี้ มทร.อีสาน ได้รับเกียรติจากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ เรืองรุ่งโรจน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิรินันท์ พงศ์เมธีกุล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหลักสูตร การประกันคุณภาพการศึกษา และเป็นผู้ประเมินฯ AUN-QA ที่ขึ้นทะเบียน ทปอ.และวิทยากรภายในมหาวิทยาลัยฯ อีก 2 ท่าน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์คณิน ศุภเมธานนท์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร อินทร์นอก โดยมีกำหนดกิจกรรม จำนวน 2 วัน ระหว่างวันที่ 5 – 6 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมมรกตอีสาน ชั้น 5 อาคารสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ นครราชสีมา
ด้าน รองศาตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับหลักสูตร ด้วยเกณฑ์ AUN-QA ในกระบวนการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผลการดำเนินงานปัจจุบันกับผลการดำเนินงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ Gap Analysis นำประเด็นไปพัฒนาการบริหารจัดการหลักสูตร โดยใช้แนวคิดจากเกณฑ์ AUN-QA เพื่อจัดทำแผนพัฒนา/บริหารจัดการหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนได้
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และฝึกปฏิบัติกระบวนการ วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผลการดำเนินงานปัจจุบันกับผลการดำเนินงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) หลักสูตรที่ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในด้วยเกณฑ์ AUN-QA ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 15 หลักสูตร สามารถนำผลการประเมินฯ มาจัดทำแผนพัฒนา/บริหารจัดการหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 2) เตรียมความพร้อมให้กับหลักสูตรที่ประเมินคุณภาพการศึกษาภายในด้วยเกณฑ์ AUN-QA ในปีการศึกษา 2567 จำนวน 52 หลักสูตร และ 3) หลักสูตรอื่นๆ ที่ให้ความสนใจจากทุกคณะ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการอบรม สามารถอบรมได้ทั้งแบบ On-site และ Online ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom สำหรับภาคการบรรยายให้ความรู้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ เรืองรุ่งโรจน์ ได้การบรรยาย AUN-QA Criteria and Implementation ประกอบไปด้วย 8 Part ได้แก่ Criterion 1: Expected Learning Outcomes, Criterion 2: Programme Structure and Content, Criterion 3: Teaching and Learning Approach, Criterion 4: Student Assessment, Criterion 5: Academic Staff, Criterion 6: Student Support Services, Criterion 7: Facilities and Infrastructure, Criterion 8: Output and Outcomes และในทุกภาคการบรรยายได้จัดให้มีกิจกรรม Workshop เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้นำความรู้ที่ได้จากการบรรยายมาปฏิบัติและนำเสนอต่อคณะวิทยากร เพื่อรับฟัง แนะแนวทาง และเสนอความคิดเห็นเพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว
บารมี โกนบาง, อมรเทพ ดอกสันเทียะ / ภาพ