วันที่ 4 ตุลาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด นายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนโชค น้ำมันพืช (2012) จำกัด และ นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรีนเวิลด์ ยูซีโอ จำกัด และผู้แทนสถานประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพจากน้ำมันทอดซ้ำและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเชื้อเพลิง อากาศยานแบบยั่งยืน ณ ห้องมงคลประดู่ ชั้น 3 อาคาร 50 ปี เทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมกันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี จากนั้น นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการลงนามและได้กล่าวขอบคุณ มทร.อีสาน และทุกเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการลงนามในครั้งนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานใหม่ ฉบับที่ 4 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) สู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศบนพื้นฐาน BCG Economy โดยมีจุดมุ่งเน้นเชิงยุทธศาสตร์ (Clusters) ที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นการขับเคลื่อนในด้าน Logistics ที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนพลังงานที่ยั่งยืน”
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “กรีน เวิลด์ ยูซีโอ” ในครั้งนี้ มีเป้าหมายสนับสนุน การบริหารการจัดการน้ำมันใช้แล้วในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีของนักศึกษา บุคลากร และประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจาก “สารโพลาร์” ซึ่งเป็นสารประกอบในน้ำมันทอดซ้ำ สาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบและโรคมะเร็งรวมทั้งป้องกันการจัดการน้ำมันใช้แล้วทิ้งลงท่อสาธารณะ โดยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ภาคีทุกฝ่ายจะร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เปลี่ยนน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ให้เป็นเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) ซึ่งเป็นนวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก โดยใช้ทรัพยากรหรือเครือข่ายของทุกฝ่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวเพิ่มเติม
อมรเทพ ดอกสันเทียะ / ข่าว
บารมี โกนบาง / ภาพ