มทร.อีสาน จับมือ 10 มหาวิทยาลัย ผสานความร่วมมือการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย กฏบัตรไทยและสมาคมการผังเมืองไทย ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Wellness Economy + Green & Carbon Neutrality

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ อาจารย์ ดร.พรสวรรค์ ทองใบ รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์  วรรณศรี รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย  พุ่มพวง รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมวิชาชีพและการจัดหารายได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาธิณี กรสิงห์ ผู้ช่วยคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรินทร์  อ่อนน้อม ผู้ช่วยคณบดี เข้าร่วม “พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาดและการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ระหว่าง การไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยและกฏบัตรไทย (ม.สงขลานครินทร์, ม.วิทยาลัยบูรพา, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, ม.ขอนแก่น, ม.ราชภัฏอุดรธานี, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.แม่โจ้, ม.พายัพ, ม.พะเยา) เพื่อร่วมเปลี่ยนประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร ท.103 การไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานกลาง จังหวัดนนทบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร  ผู้ว่าการการไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  และมีนายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการการไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรในการดำเนินการเชิงนโยบายสาธารณะ ไม่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย  ซึ่งจะร่วมกันในการสนับสนุนทางวิชาการ การวิจัย การพัฒนารูปแบบทางธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษกิจมูลค่าสูง การยกระดับการบริหารจัดการ การพัฒนาเครือข่ายการตลาด การส่งเสริมการจ้างงานนวัตกรรม การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน  การพัฒนาเมืองและการสร้างพื้นที่เมืองนวัตกรรม รวมทั้ง การพัฒนายุทธศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายการเสริมสร้างศักยภาพ การเพิ่มขีดความสามารถ การพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการยกระดับทางเศรษฐกิจการพัฒนาสังคม การยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายโอกาสและความเจริญสู่ภูมิภาค ตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงในปี พ.ศ.2580          

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส และผลงานด้านการแพทย์ สุขภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์ของเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน  และกฏบัตรไทย, พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒเศรษฐกิจการแพทย์ การส่งเสริมสุขภาพ พลังงานสะอาดและการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมและพื้นที่เขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” การรับฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวทางขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเวลเนสโดย มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศ” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย  ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย (Thailand Wellness Corridor)” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สิงห์  อินทรชูโต  หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน การเสวนาเรื่อง  “การขับเคลื่อนนวัตกรรมและการบริหารจัดการเขตนวัตกรรมการแพทย์การส่งเสริมสุขภาพและพื้นที่เขื่อนของ กฝผ. เพื่อนำไทยเป็นประเทศรายได้สูง” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน ได้เข้าร่วมการเสวนาด้วย

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมามทร.อีสาน ได้มีการ Re- Profiling ยุทธศาสตร์ของ มทร.อีสาน ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมหาวิทยาลัยได้ทำเป็น Cluster ไว้ และมีจุดเน้นใน เรื่องของอาหารและสุขภาพ รวมถึง wellness และห่วงโซ่อุปทานสมุนไพร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในเรื่องดังกล่าว และตั้งเป็นยุทธศาสตร์ของ มทร.อีสาน ที่ต้องการให้เป็นผู้นำระดับต้น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานของสมุนไพร ซึ่งทาง มทร.อีสาน มีประสบการณ์ในการทำห่วงโซ่คุณค่าของสมุนไพร ซึ่งได้เป็นต้นแบบของห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรต่างๆ ในภาคอีสาน มาแล้ว พร้อมกันนั้น มทร.อีสาน ได้จัดทำหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานสมุนไพร และหลักสูตรที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะหลักสูตรระยะสั้น  ซึ่ง มทร.อีสาน ได้มีการจัดทำและดำเนินการไปแล้ว ในหลายพื้นที่ของ มทร.อีสาน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ มทร.อีสาน อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น ห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรไพล โครงการดังกล่าว มทร.อีสาน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บพท. และได้มีการศึกษาห่วงโซ่คุณค่า ที่มีข้อมูลค่าเพิ่มออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาห่วงโซ่เดิม และมีการยกระดับให้เป็นห่วงโซ่ใหม่ โดยผลที่ได้สามารถที่จะยกระดับวิสาหกิจชุมชนในภาคอีสาน ให้มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเข้าใจในการทำธุรกิจ ในภาพของวิสาหกิจชุมชน โดยได้นำเอาวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม พร้อมใช้ ของมหาวิทยาลัย ลงไปยกระดับในพื้นที่ ยกระดับวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตัวอย่างเช่น ได้มีการพัฒนาต้นพันธุ์ ให้มีมาตรฐาน ตาม มาตรฐาน GAP และ PGS ในการยกระดับการปลูก ต้นพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ และการตลาด หลังจากการดำเนินการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถยกระดับในการปลูก การเพิ่มผลผลิต  การยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ ผู้ใช้ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีจำนวนมาก และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และความต้องการของลูกค้า ช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในแฟลตฟอร์มต่างๆ

นอกจากนี้พิธีลงนามดังกล่าวยังได้มีการชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงาน การพัฒนา และแนวทางในการดำเนินกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนข้อตกลงความร่วมมือนี้ให้เป็นจริงใน 4 เรื่อง ได้แก่ 

ประเด็นที่ 1 เรื่อง การปรับปรุงผังเมืองรวม การออกแบบผัง  การออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับการลงทุนมูลค่าสูง  โดย นายฐาปนา บุญยประวิตร  นายกสมาคมการผังเมืองไทย เลขนุการกฎบัตรไทย

ประเด็นที่2 เรื่อง ศักภาพและการสนับสนุนทรัพยากรด้านนวัตกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพของมหาวิทยาลัยและหน่วยวิจัย  โดย ผู้บริหารและผู้แทนจาก ม.สงขลานครินทร์, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.ขอนแก่น, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.มหิดล, ม.พายัพ, ม.พะเยา

ประเด็นที่ 3 เรื่อง แนวทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมายที่ส่งเสริมในเขตนวัตกรรม โดย ผู้บริหารจาก ม.สงขลานครินทร์, ม.แม่โจ้, ม.บูรพา และ มทร.อีสาน  โดยในประเด็นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน ได้ร่วมในการนำเสนอศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่ 4 เรื่อง แนวทางการลงทุนด้านการท่องเที่ยวมูลค่าสูง อุตสาหกรรมบริการและอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ โดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย  สมาคมโรงแรมภาคอีสาน และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นสถาบันที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน พร้อมที่จะร่วมเป็นฟันเฟืองของประเทศที่จะนำประชาชนและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงพร้อมกับการดูแลและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป”

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว

บารมี โกนบาง / ภาพ