มทร.อีสาน โดย คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ จัดโครงการองค์กรแห่งความสุข คนรุ่นใหม่ห่างใกล Stoke by New Gen 2023

วันที่ 6 กันยายน 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย ฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ จัดโครงการองค์กรแห่งความสุข คนรุ่นใหม่ห่างใกล Stroke by New Gen 2023 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ และมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต  นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์  กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ

โครงการองค์กรแห่งความสุข คนรุ่นใหม่ห่างใกล Stroke by New Gen 2023 มีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมอง การออกบูธเพื่อสุขภาพแก่บุคลากรและนักศึกษา มทร.อีสาน และการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านต่าง ๆ โดยกิจกรรมภายในงานมีการแสดง Cover Dance กิจกรรม Bartender จากนักศึกษาสาขาวิชาท่องเที่ยวและการโรงแรม พิธีกรให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) บูธนวดเพื่อสุขภาพ จากนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ กิจกรรมการเต้นแอโรบิค กินกรรม Random Dance พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่บุคลากรที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเกมส์ ครั้งที่ 39 ณ มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ด้วย

สำหรับโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิต และอันดับ 3 ของความพิการจากการสำรวจในปี 2562 ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 101 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 12.2 ล้านคน (หรือมีผู้ป่วยรายใหม่ 1 คนในทุก 3 วินาที) และเสียชีวิต 6.5 ล้านคน จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 34,545 คน (อัตราตาย 53 ต่อประชากรแสนคน) ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทางการแพทย์เรียกว่า STROKE เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิต และแม้ว่าจะไม่เสียชีวิตแต่ทำให้เกิดความพิการระยะยาว ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดชีวิต เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญของ โรคหลอดเลือดสมอง คือ ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย และมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต โดยเริ่มตั้งแต่ การตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ รับประทานผักและผลไม้ทุกวัน ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอและรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

วราภรณ์  นามบุตร / ข่าว

ไพฑูรย์  เคนท้าว, บารมี  โกนบาง / ภาพ

ข้อมูลจาก กองโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค