มทร.อีสาน สานต่อความร่วมมือ ม.จำปาสัก ประเทศลาว มุ่งสร้างโอกาสด้านการศึกษาและการวิจัย พร้อมเปิดบ้านแลกเปลี่ยนนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย ร่วมกัน

วันที่ 4–5 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.เชวง สารคล่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร รองศาสตราจารย์ ดร.สำเนาว์ เสาวกูล รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัช อนุชานุรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตสุรินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หริส ประสารฉ่ำ ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยา แก้วอาษา คณบดีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ เวชวิฐาน คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ อาจารย์ทรงยศ กิตติชนม์ธวัช คณบดีคณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ประพันธ์ ยาวระ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม อาจารย์ณัฐพงษ์ วงศ์วรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเทคโนโลยีการจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัณหวัจน์ ทองแดง รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี นายอนุชา ผิวคำ หัวหน้าแผนกงานพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตสกลนคร นายอภิชาต ราชคำ นักวิชาการ คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยจำปาสัก เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง(MOA)ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กับ มหาวิทยาลัยจำปาสัก โดย Dr.Bounmy Phonesavhanh President of Champasack University ร่วมลงนาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสด้านการศึกษาและทำการวิจัยร่วมกันของ 2 มหาวิทยาลัย เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัย เพื่อทำการศึกษาวิจัยด้านต่างๆ รวมถึงการใช้วัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีร่วมกัน

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOA)ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กับ มหาวิทยาลัยจำปาสัก ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13–15 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ดำเนินกิจกรรมการถ่ายทอดและสร้างชุมชนนวัตกรรมต้นแบบ พร้อมส่งมอบนวัตกรรมเครื่องให้อาหารปลาพลังงานสะอาด ให้กับมหาวิทยาลัยจำปาสัก ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและชุมชน ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนด้านการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่การเป็นนวัตกรและสร้างชุมชนนวัตกรรมต้นแบบระหว่างกัน ภายใต้โครงการชุมชนนวัตกรรมสำหรับนวัตกร คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี นั้น มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสและความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติต่อไป

วราภรณ์  นามบุตร / ข่าว

อภิชาต  ราชคำ / ภาพ