มทร.อีสาน เข้าเยี่ยมพร้อมหารือบริษัทผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้า ระบบราง และเครือข่ายฯ สานสัมพันธ์สู่การถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ไทย-จีน

วันที่ 4 – 9 ธันวาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน มอบหมายให้ อาจารย์ ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัย “กลไกการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการภาคการขนส่งภาคการเดินทาง และภาคการเกษตรระดับท้องถิ่นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ” ได้รับพิจารณาสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ปีงบประมาณ 2567 เดินทางประสานเชื่อมโยงกลุ่มผู้ดำเนินการห่วงโซ่อุปทานระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Supply-side) กับประเทศไทย ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าและมหาวิทยาลัย ดังนี้

วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ได้เข้าเยี่ยมและหารือกับ บริษัทผู้แบตเตอรี่ “Pony Energy” ณ เมืองกว่างโจว

วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ได้เข้าเยี่ยมและหารือกับ บริษัทผู้ผลิต Solution for Energy Storage and EV Charging “Infy Power” ณ เมืองเซินเจิ้น

วันที่ 7 ธันวาคม 2567 ได้เข้าเยี่ยมและหารือกับ บริษัทผู้ผลิต Motor Supplier Factory “Jiangxi Special Electric Motor Co., Ltd.” ณ เมืองอี้ชุน

วันที่ 8 ธันวาคม 2567 ได้เข้าเยี่ยมและหารือกับ บริษัทผู้ผลิตระบบยานยนต์ไฟฟ้าและระบบราง “Even Control: Zhuzhou Jiacheng Science & Technology” ณ เมืองจูโจว

และในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ได้เข้าเยี่ยมและหารือกับ เครือข่ายพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า “Nanjing Vocational Institute of Transport Technology” ณ เมืองหนานจิง

สำหรับการเข้าเยี่ยมและหารือในครั้งนี้ มีเป้าหมาย 5 ข้อ  ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในท้องถิ่นของประเทศไทยสู่การเติบโตในอนาคต  2) เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ากับผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่การพัฒนาช่างฝีมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการรวมกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่น ส่งเสริมนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับเชิงพื้นที่ 3) เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ากับผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่การพัฒนาช่างฝีมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการรวมกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่น ส่งเสริมนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับเชิงพื้นที่ 4) เพื่อพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มและทดสอบกลไกบริหารจัดการกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่น (EV Cluster Management Platform Prototype) สามารถเข้าถึงตลาดและสามารถให้บริการในท้องถิ่น รวมถึงการเข้าถึงศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับชุมชนได้ และ 5) เพื่อการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (National Policy Platform) ระดับชาติที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตของกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าท้องถิ่นอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมครั้งนี้นำไปสู่การบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตระบบยานยนต์ไฟฟ้าและระบบราง “Even Control: Zhuzhou Jiacheng Science & Technology” เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อท้องถิ่น ภายใต้โครงการวิจัย “กลไกการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการภาคการขนส่งภาคการเดินทาง และภาคการเกษตรระดับท้องถิ่นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ” ร่วมกับเครือข่ายการวิจัย อาทิ มทร.อีสาน มทร.ล้านนา RDC-PMUA หน่วยวิจัยพลังงานสะอาด ศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาเมือง (CUID) บริษัท ไมโครชิพแมชชีน จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด สาเกตเมคคาทรอนิค และบริษัท พีพีแอส ยูทิลิตี้ จำกัด เพื่อนำไปสู่กิจกรรมต่าง ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

#TSRI #สกสว #หน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ #NXPO #สอวช #PMUA #บพท #มทรอีสาน #คณะระบบรางและการขนส่ง #สาขาการขนส่ง #นวัตกรรมการพัฒนาเมือง #RMUTI #FRT #IUTOD

ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ /ข่าว – ภาพ

วราภรณ์ นามบุตร / เรียบเรียง