มทร.อีสาน ร่วมประชุมหารือหน่วยงานและสถาบันการออกแบบแฟชั่นระดับโลก ประเทศฝรั่งเศส มุ่งยกระดับ Soft power ไหมอีสานสู่สากล


วันที่ 4-11 ตุลาคม 2566 นายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร. โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี และ อาจารย์ ดร.อนิรุธ พิพัฒน์ประภา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ เข้าร่วมประชุมและปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนร่วมกันด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการออกแบบแฟชั่นที่ Ecole Soreil – HESAM University, Ecole Duperre Paris, Lycee Martiniere Diderot และเข้าพบผู้บริหารคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ กิจการวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย CY Cergy Paris เพื่อปรึกษาหารือถึงความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนร่วมกันทั้งทางด้านบริหารธุรกิจและวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้เพื่อเป็นการยกระดับผ้าไหมอีสานสู่ระดับสากล มทร.อีสานได้มีการนำผ้าไหมอีสานของจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดสกลนคร สำหรับเป็นผ้าตัวอย่างพร้อมร่วมประชุมกับนาย Pierre Jacques Brivet ประธานสหพันธ์ผู้ค้าไหมและสิ่งทอแห่งนครลียง (Le Syndicat des Industries: Mode Habillement, Auvergne Rhone Alpes) และนาย Franck Benaud ผู้สืบทอดกิจการของตระกูลในการผลิตผ้าไหมด้วยเทคนิคพิเศษ (Moire)

ผลจากการร่วมประชุมหารือทั้งจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการออกแบบแฟชั่น ของประเทศฝรั่งเศส สามารถสรุปได้ว่าทาง มทร.อีสาน สามารถที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ในทุกมิติ โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอ และการออกแบบแฟชั่น มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน นครราชสีมา และด้านการพัฒนาผ้าครามในคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร พร้อมเตรียมเปิดศูนย์ Franco ISAN Textile (FIT) เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาผ้าไหมอีสานแบบครบวงจร ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการประชุมหารือดังกล่าวจะเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาร่วมกันของ มทร.อีสาน กับสิ่งที่เป็นจุดเน้นอัตตลักษณ์ของอีสานสำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ผ้าไหม อันเป็นที่ยอมรับ ดังจะเห็นจากการที่ มทร.อีสานวิทยาเขตสุรินทร์ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายผ้าไหมพื้นเมืองสุรินทร์ ลายเฉลิมพระเกียรติ แด่พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา รวมถึงผ้าไหมในการชุดให้กับผู้นำประเทศในการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยจะได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมจากการศึกษาสู่การดึงอัตตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ดร.อนิรุธ พิพัฒน์ประภา / ภาพ – ข่าว