มทร.อีสาน ผนึกกำลัง ป.ป.ช. พร้อม 3 มหาวิทยาลัยโคราช ลงนามสร้างความร่วมมือต้านคอรัปชั่น

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร  อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ นายนิวัติไชย  เกษมมงคล  เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายณัฐวุฒ  ขมประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 3 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คณะผู้บริหารมหาวิทยาราชภัฏนครราชสีมา และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระหว่าง สํานักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 กับ 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา ณ ณ ห้องประชุม 37-401 ชั้น 4 อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ตําบลในเมือง อําเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่และประสานความร่วมมือให้เกิดการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ในความซื่อสัตย์สุจริต และองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้กับมหาวิทยาลัยและบุคลากรในสังกัด เพื่อสร้างเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกลุ่มคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้สถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา เข้ามามีบทบาทในการนำหลักสูตร ด้านทุจริตศึกษา ไปใช้ในการเรียนการสอนของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมรณรงค์ ขยายแนวคิดให้กับสถาบันการศึกษาในการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ซึ่งจะมำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาชน พร้อมยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการป้องกันการทุจริตขององค์กรอีกด้วย

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร  อธิการบดี มทร.อีสาน ในฐานะผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ในการเข้าร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  กล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหาคอรัปชั่นถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ด้อยพัฒนา แม้ว่าหลายประเทศจะมีระบบการบริหารราชการสมัยใหม่ มีการรณรงค์จากองค์กรของรัฐหรือองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งการคอรัปชั่น นับเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความยากจนและเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงมีคำนิยามว่า คอรัปชั่น คือ การทุจริตโดยใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ อำนาจ และอิทธิพลที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ต้องเริ่มจากการสร้างคนให้มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และมีพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต การสร้างคนจึงต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ เริ่มจากการอบรมสั่งสอนการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ๆ และรวบรวมความรู้ชั้นสูงไว้สำหรับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทั้งนี้ การที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำหลักสูตรด้านทุจริตศึกษา สำหรับใช้เป็นมาตรฐานกลางในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ฝึกอบรมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะมีแนวทางการพัฒนาคนที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติระดับประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน การปรับกระบวนการคิดและพฤติกรรมคุณทุกกลุ่มในสังคม โดยทั้ง 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลักสูตร หรือโครงการกิจกรรมอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3  อันจะนำไปสู่การยกระดับความโปร่งใสของประเทศไทยต่อไป”  รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร  อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวทิ้งท้าย

วราภรณ์  นามบุตร / ข่าว

ไพฑูรย์ เคนท้าว, บารมี โกนบาง / ภาพ