มทร.อีสาน เปิดบ้านต้อนรับผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. และ สกสว. ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

วันที่ 18 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ให้การต้อนรับ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการเข้าร่วมประชุมและติดตามการดำเนินงานของโครงการวิจัย พร้อมตรวจเยี่ยมพื้นที่ศึกษาวิจัย โครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพคาร์บอนต่ำในเชิงพาณิชย์” และ “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยากรดของแข็งคาร์บอนสำหรับการผลิตสารเติมแต่งเชื้อเพลิง กลีเซอรอล บิวทิล อะเซทัลจากกลีเซอรอลเพื่อลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิดเครื่องยนต์ดีเซล” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กลุ่มเรื่อง การจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ และ HAZE FREE THAILAND และปัญหา PM2.5 ปีงบประมาณ 2565 ณ อาคารปฏิบัติการคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์(อาคาร 34 – ห้อง 701) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา

โดยโครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพคาร์บอนต่ำในเชิงพาณิชย์” เป็นโครงการที่ใช้เอทานอลในการเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ไฮโดรคาร์บอนที่มีมูลค่าสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันอากาศยานชีวภาพคาร์บอนต่ำ ซึ่งพบว่าเมื่อนำเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ไปผสมกับน้ำมันอากาศยานเกรดการค้า พบว่ามีสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับใช้เป็นนํ้ามันเครื่องบินไอพ่นทหาร (JP-8) และนํ้ามันเครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์ (Jet A-1) นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังให้ผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่น ๆ เช่น เอทิลีน โพรพิลีน สารไฮโดรคาร์บอนโซ่ยาว เบนซิน โทลูอีน และไซลีน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก ตัวทำละลาย สารเติมแต่ง สี เชื้อเพลิง เช่น แอลพีจี น้ำมันเบนซิน เป็นต้น นอกจากนี้โครงการยังได้มีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel; SAF) ซึ่งช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศ สอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization; ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association; IATA) ที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050

ส่วนโครงการ “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยากรดของแข็งคาร์บอนสำหรับการผลิตสารเติมแต่งเชื้อเพลิง กลีเซอรอล บิวทิล อะเซทัลจากกลีเซอรอลเพื่อลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิดเครื่องยนต์ดีเซล” เป็นโครงการที่นำกลีเซอรอลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลมาเปลี่ยนให้เป็นสารเติมแต่งเชื้อเพลิงเพื่อลด PM2.5 จากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่ยังไม่ได้มาตรฐานไอเสียยูโร 5 ซึ่งประมาณการว่ามีจำนวนสูงถึง 11 ล้านคันทั่วประเทศไทย โดยสารเติมแต่งที่เตรียมได้เมื่อนำมาผสมกับน้ำมัน B7 แล้วไปทดสอบตาม มอก.3019-2563 พบว่ามีประสิทธิภาพการลดสารมลพิษอนุภาค (Particulate pollutants (mg/km)) ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ และลดปริมาณสารมลพิษอนุภาค (Particulate numbers (#/km)) ประมาณ 9.8 เปอร์เซ็นต์ หากมีการนำสารเติมแต่งนี้ไปเติมในรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเก่าจะช่วยลด PM2.5 จำนวนมากกว่า 2,142 ตันต่อปี ทั้งนี้ วช. สกสว. และ มทร. อีสาน ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ และขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในการผลักดันโครงการให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่หน่วยงานของภาครัฐทำหน้าที่ช่วยผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นผ่านการสร้าง “ระบบนิเวศ” ด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ถือเป็นการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.อีสาน / ข่าว

ไพฑูรย์ เคนท้าว, บารมี โกนบาง / ภาพ