มทร.อีสาน ร่วมกิจกรรม “หนึ่งศตวรรษ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา” (NRRU Beyond The University) พร้อมสานต่อความร่วมมือสร้างบัณฑิตเพื่อพัฒนาประเทศ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เข้าร่วมกิจกรรม “หนึ่งศตวรรษ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา” (NRRU Beyond The University) ณ ห้องประชุมสุวัจน์  ลิปตพัลลภ 2 อาคารยุพราชเบญจมงคล (อาคาร 31 ชั้น 3 ) มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เราเป็นมากกว่ามหาวิทยาลัย” โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการพัฒนาท้องถิ่นสู่การขับเคลื่อนประเทศไทย” โดย นายสุทธิพงษ์  จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น : ความท้าท้ายของมหาวิทยาลัยราชภัฏ” โดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

ในการนี้  รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน ได้เข้าร่วมการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทาง ในหัวข้อ “ความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น” ร่วมกับ คณะผู้บริหารจากอีก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อีกด้วย

สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา นับเป็นสถานศึกษาที่มีความใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง โดยทั้ง 2 มหาวิทยาลัย มีความใกล้ชิดกันทั้งเรื่องของพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่อยู่ติดกัน ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งเรื่องของกีฬาและวิชาการ เช่น การแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงโล่พระราชทานฯ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา การจัดการเรียนการสอนร่วมกันแบบ LMS : Learning Management System ซึ่งเป็นระบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcome) เพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของ มทร.อีสาน ที่มี “ความเป็นนักนวัตกรรมและผู้ประกอบการ” (Innovation ship & Entrepreneurship) ร่วมกับ “คุณลักษณะบันฑิตที่พึงประสงค์ด้วยทักษะ 5 ด้าน” ตามกรอบความคิดสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Framework for 21st Century Learning) เป็นต้น

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว

บารมี โกนบาง / ภาพ