เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2566 รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำทีม ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นโยบายและแผน ผศ.ดร.ศตคุณ เดชพันธุ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.อภิชิต คำภาหล้า คณบดีระบบรางและการขนส่ง ผศ.ดร.ธงชัย คล้ายคลึง ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์สมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ หัวหน้าโครงการต้นแบบระบบนิเวศเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ กรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะเมืองโคราช ทีมผู้บริหาร และอาจารย์ ดำเนินการ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนามาตรฐานระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะเพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่” กับ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีพีเอส ยูทิลิตี้ จำกัด และ บริษัท เล็กสุวงษ์ ขนส่ง จำกัด
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า บันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมมือกันวิจัย พัฒนา บริการวิชาการ และพัฒนาบุคลากรคุณภาพสูง เพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมการพัฒนาเมือง ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เช่น Logistics cluster และ Digital cluster ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา และ มทร.อีสาน ผ่านการดำเนิน “โครงการพัฒนาต้นแบบระบบนิเวศเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ โดยมีกรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะเมืองโคราช” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ปีงบประมาณ 2565 ตลอดจนการต่อยอดรูปแบบความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ ของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ เพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาเมืองให้กับเมืองโคราช และการเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระดับพื้นที่เมืองศูนย์กลางกระจายความเจริญ และองค์ประกอบสำคัญของความเป็นเมืองอัจฉริยะ ดังหมุดหมายที่ 8 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
ตลอดจนพัฒนาต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการพาณิชย์ได้ ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและภาคีเครือข่ายร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมมือ 4 ประเด็นหลัก กล่าวคือ
- ส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในการให้บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ ผู้ประกอบการเดินรถขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น ได้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการประกอบการขนส่งในเทคโนโลยีและราคาที่เหมาะสม เพื่อยกระดับบริการสาธารณะให้กับการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
- ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์การรับรองมาตรฐานและการให้บริการด้านยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคขนส่ง ภาคธุรกิจบริการและภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
- ร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และการเดินทางอัจฉริยะระดับพื้นที่เมืองสู่การพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น (Reskill/Upskill) และจัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะ เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช ทวี มีความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกภาคส่วนและทุกระบบให้กับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบรางและการเดินทางทุกรูปแบบ” สิ่งสำคัญสำหรับการ MOU ครั้งนี้ คือ การเห็นเจตนารมณ์ร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งสถาบันอุดมศึกษา (มทร.อีสาน) ภาครัฐ และกลุ่มเอกชนธุรกิจของประเทศไทย ร่วมใจกันพยายามขับเคลื่อนและยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เราคาดหวังว่าหลังจากวันนี้อีก 3-6 เดือน จะเป็นย่างก้าวสำคัญของการพิสูจน์แสดงให้เห็นว่า “คนไทย เราทำได้”
นายปรเมษฐ์ บันสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีพีเอส ยูทิลิตี้ จำกัด ได้กล่าวว่า เมืองโคราชเป็นเมืองแห่งความหวังสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนามาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและการเดินทางอัจฉริยะ การพัฒนาระบบการเดินทางและการขนส่งของเมือง เราจำเป็นต้องมีรูปแบบทางเลือกการเดินทางที่หลากหลายให้กับชาวเมือง และยกระดับระบบการเดินทางของเมืองให้มีศักยภาพดั่งเมืองชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก และเมืองโคราชมีศักยภาพที่ดีและสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบสู่การเรียนรู้เมืองอื่น ๆ ของประเทศไทย
นายเถลิงศักดิ์ เล็กสุวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เล็กสุวงษ์ ขนส่ง จำกัด ได้กล่าวในที่ประชุมว่า สถานการณ์การเดินทางของเมืองโคราชที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายของการประคับประคอง ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ มีความถดถอยในหลายเรื่อง ตลอดจนความอยู่รอดของผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพียงแค่สายการเดินรถที่ตนเองดูแล แต่สายการเดินทางอื่น ๆ ของเมืองโคราช หรือเมืองอื่น ๆ ก็มีความต้องการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสร้างทางเลือกและรูปแบบการแก้ไขสู่การพัฒนาและยกระดับกิจการให้บริการ ซึ่งกิจการเดินรถขนส่งมวลชนเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งสำหรับการพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน วันนี้นับเป็นวันที่ดี ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ นโยบายและแผน กำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้จุดเน้น (Cluster) Logistics มทร.อีสาน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่เกิดจากเป้าหมายของทุกฝ่ายที่ตรงกัน คือ ต้องการนำศักยภาพของตัวเองมาบูรณาการร่วมกันอย่างไม่มีข้อจำกัดเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ดังนั้นจึงมีความเชื่อมั่นว่าจะเกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างแน่นอน
สถาบันยานยนต์สมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน / ข่าว
ไพฑูรย์ เคนท้าว / ภาพ