มทร.อีสาน จัดการประชุมหารือความร่วมมือในการพัฒนาช่างเชื่อมเรือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย

วันที่ 24 มีนาคม 2568 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระบิล พ้นภัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวต้อนรับพร้อมร่วมประชุมกับ นาวาเอก ปริศฎางค์ กาศขุนทด นายกสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย และคณะทำงาน ในการประชุมหารือความร่วมมือในการพัฒนาช่างเชื่อมเรือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย โดยในการประชุมครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประชุมอย่าพร้อมเพรียง ทั้ง On site และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพันธ์ ยาวระ รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ โยธา ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ ดร.ประจวบ อินระวงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช  สุวิทยารักษ์ รองหัวหน้าสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ฝ่ายวิชาการและวิจัย และคณาจารย์สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ  ณ ห้องประชุมแคแสด อาคารสำนักงานกิจการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มทร.อีสาน นครราชสีมา

          สำหรับการหารือความร่วมมือในครั้งนี้ การนำเสนอวัตถุประสงค์ และกรอบแนวทางในการร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ จำนวน  5 ข้อ ดังนี้

           1. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะด้านการเชื่อมเรือให้แก่อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

           2. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน และฝึกปฏิบัติจริงในอู่ต่อเรือ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง

           3. สนับสนุนทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยภาคอุตสาหกรรมจะจัดหาผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และการทดสอบมาตรฐานงานเชื่อมเรือให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย

           4. เพิ่มโอกาสการมีงานทำของนักศึกษา โดยสนับสนุนให้นักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมได้มีโอกาสเข้าทำงานในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

        5. ยกระดับคุณภาพของแรงงานด้านการเชื่อมเรือให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

         ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระบิล พ้นภัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการฯ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง การประมง และการทหาร อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านการเชื่อมเรือ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของเรือ ซึ่งสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทยในฐานะองค์กรที่เป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการอู่ต่อเรือทั่วประเทศ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแรงงานฝีมือให้มีความสามารถตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะทางเทคนิคสูง  ทั้งนี้ เพื่อยกระดับทักษะแรงงานด้านการเชื่อมเรือ “สมาคม” และ “มหาวิทยาลัย”  จึงได้จัดการประชุมหารือเพื่อความร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์และนักศึกษา ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน และการสนับสนุนทรัพยากร รวมถึงการเปิดโอกาสในการเข้าทำงานในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ซึ่งความร่วมมือนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

วราภรณ์  นามบุตร / ข่าว
นายบารมี  โกนบาง / ภาพ

en EN th TH