มทร.อีสาน จับมือ รพ.มหาราชฯ รพ.จิตเวชฯ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 กรมสุขภาพจิต ลงนามส่งเสริมแนวทางการป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากรและนักศึกษา

วันที่ 30 มกราคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดย คณะบริหารธุรกิจ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสุขภาพจิต ระหว่าง  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 กรมสุขภาพจิต ณ ห้องประชุมมรกตอีสาน ชั้น 5 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.อีสาน นครราชสีมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน แพทย์หญิงเมษา ศรีสุกัญญา หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช ผู้แทนจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นางจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการด้านเครือข่ายและวิชาการ ผู้แทนจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ และนางสาวศิริลักษณ์ แก้วเกียรติพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 เข้าร่วมพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสุขภาพจิต พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระบิล พ้นภัย คณบดีคณะบริหารธุรกิจ อาจารย์ ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์กานต์ สุรนันท์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ผู้แทนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ เข้าร่วมพิธีเป็นพยาน โดยวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการป้องกัน ดูแล และลดปัญหาทางด้านสุขภาพจิต พร้อมทั้ง เสริมสร้างความรู้และสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษามีประสบการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิต ตลอดจนให้คำปรึกษาตามหลักจิตวิทยาได้อย่างถูกต้องแก่นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาได้อย่างถูกต้องตามหลักจิตวิทยา

และในวันเดียวกันคณะบริหารธุรกิจ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้ทันภาวะซึมเศร้า” ณ ห้อง 01601 อาคารคณะบริหารธุรกิจ มทร.อีสาน โดยมีคณาจารย์เจ้าหน้าที่และผู้นำนักศึกษา เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 80 คน โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ “รู้ทันภาวะซึมเศร้า” มีการแบ่งกิจกรรมออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยในส่วนของภาคทฤษฎีมีการบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “ซึมเศร้าในนักศึกษา” โดยนายสันทัด ผลจันทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ และการบรรยายเรื่อง “การให้คำปรึกษาวัยรุ่น” โดย นางสาววรวรรณ หนึ่งด่านจาก นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 จากนั้นในส่วนของภาคปฏิบัติ ทางวิทยากรได้ให้ผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่ม โดยมีการฝึกปฏิบัติในหัวข้อ “ฟังด้วยหัวใจ” “สื่อสารเชิงบวก” และ “ทักษะการให้คำปรึกษา” โดย นายภาภิน อำรุงจิตชัย นักจิตวิทยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 นางสาววรวรรณ หนึ่งด่านจาก นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 และนายสันทัด ผลจันทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.จิตเวชนครราชสีมา และท้ายสุดของกิจกรรมเป็นการสรุปบทเรียน Positive AfterAction Review (PAAR) และการนำไปใช้ โดยนายภาภิน อำรุงจิตชัย นักจิตวิทยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 โครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการนำร่องของมหาวิทยาลัย ซึ่งคณะบริหารธุรกิจได้มีแผนจะดำเนินการจัดโครงการนี้อย่างต่อเนื่องทุกปี ภายหลังจากการจัดอบรมได้มีการประเมินผลผู้เข้าร่วมโครงการฯ และมีนักศึกษาที่จะต้องเข้ารับข้อแนะนำและคำปรึกษาจากแพทย์ จำนวน 1 ราย

ด้าน รศ.ดร.โฆษิต  ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยหลายประการเช่น สภาพปัญหาทางเศรฐกิจซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น เกิดความเครียดสะสม เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน เกิดภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ เกิดโรคซึมเศร้า เกิดโรควิตกกังวลและแพนิค สำหรับ มทร.อีสาน มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน รวมถึงบุคลากรและนักศึกษาอย่างยิ่ง การจัดทำ MOU ด้านสุขภาพจิตร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของจังหวัดในครั้งนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่เราจะได้ร่วมกันดูแลสุขภาพของบุคลากรและนักศึกษา โดยเริ่มจากการป้องกัน การให้คำปรึกษา และการรักษาที่ถูกวิธี โดยมีหน่วยงานและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางให้การดูแลรักษา ทั้งนี้  มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การอบรมให้ความรู้ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพ  เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษามีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ และจะสนับสนุนโครงการดีๆเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

วราภรณ์  นามบุตร  / ข่าว

ไพฑูรย์  เคนท้าว,อติโรจน์ วงษ์วัชรศักดิ์ /ภาพ