มทร.อีสาน พร้อมช่วยเกษตรกรอีสานวางแผนเพาะปลูก ผุดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยพยากรณ์ฝนฟ้าในแต่ละปี

มทร.อีสาน เปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมจัดโครงการการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หวังช่วยเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วางแผนเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำและได้ผลผลิตอย่างคุ้มค่า แม้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน

รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า มทร.อีสาน เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนอกจากการมุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีสมรรถนะสูงแล้ว ยังมุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย โดยทางสภามหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมี นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นนายกสภา ได้มีนโยบายที่ให้ความสำคัญเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยอาศัยขับเคลื่อนคลัสเตอร์ด้านเทคโนโลยีการเกษตร (Agriculture Technology) ประกอบด้วย การเกษตรอินทรีย์ การเกษตรนอกฤดูเพาะปลูก การบริหาร จัดการน้ำ และ พลังงานทดแทน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ จึงเป็นที่มาให้ มทร.อีสาน ได้ทำการเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการศึกษาสภาพภูมิอากาศโดยใช้เครื่องมือด้านอุตุนิยมวิทยาในการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาศึกษาวิจัยและทำนายสภาพอากาศให้กับประชาชนได้รับทราบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เข้าร่วมเป็นประธานเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเปิดโครงการการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน นครราชสีมา ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ กล่าวรายงานในนามเจ้าภาพขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว

อาจารย์ ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์

อาจารย์ ดร.ชาคริต นวลฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประชาชนน่าจะสามารถรับรู้ได้ถึงสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในทุก ๆ ปี ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำทะเลหนุนสูงผิดปกติ เกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลักนั้น แม้จะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยทุ่นแรงในการทำการเกษตร แต่แน่นอนว่ายังจะต้องคงต้องอาศัยดิน น้ำ ลม จากธรรมชาติในการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตรงกับความต้องการในท้องตลาดและเพื่อให้เพียงพอต่อการสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ดังนั้นทางคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มทร.อีสาน ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีความพร้อมในทุกด้านทั้งคณาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเครื่องมือที่ทันสมัย จึงรับหน้าที่เป็นแกนหลักที่จะขับเคลื่อนการวิจัยสภาพภูมิอากาศในภาคอีสานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตไม่ได้ตามความต้องการ และเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลการทำนายสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน

ทั้งนี้นักวิจัยของ มทร.อีสาน จะดำเนินการเก็บหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการสังเกตการณ์ในระยะสั้น 1-3 ปี ควบคู่กับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากกรมอุตุนิยมวิทยา ด้วยเครื่องมือสถานีตรวจอากาศพื้นผิว ที่ตั้งอยู่ ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน จากนั้นจะนำมาวิจัยและทำนายสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์นำร่องในการทำนายสภาพอากาศในเขตอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา และในอนาคต มทร.อีสาน พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการติดตั้งเครื่องมือสถานีตรวจอากาศพื้นผิวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในภาคอีสานเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย

จิตสุภา ประหา /ข่าว
บารมี โกนบาง /ภาพ

Message us
English EN Thai TH

เรียน นักศึกษา บุคลากร และผู้ใช้งานทุกท่าน

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเว็บไซต์เวอร์ชันใหม่
ขอความร่วมมือผู้ใช้งานทุกท่านใช้งานเว็บไซต์ใหม่ได้ที่

www.rmuti.ac.th