นักวิจัย มทร.อีสาน เสนอ 4 โครงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ผ่านคัดเลือกจากโครงการ Pre-Talent Mobility 2565

วันที่ 26 เมษายน 2565 มทร.อีสาน โดย สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน (RMUTI SME-D) ได้จัดโครงการเฟ้นหานักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อทำข้อเสนองานวิจัยเข้าร่วม โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากร เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) ประจำปี 2565 ซึ่งทางสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการวิจัยให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรจากสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา และพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้นในฐานะนักวิจัยอาชีพ และสามารถนำองค์ความรู้ใหม่จากการทำงานมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา และเพื่อทำการศึกษาหรือหาหัวข้อปัญหา หรือวิเคราะห์โจทย์แก้ไขปัญหาในเบื้องต้นในสถานประกอบการ ทั้งนี้สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืนได้คัดเลือกนักวิจัยจาก มทร.อีสาน ทั้งหมด 4 ราย จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

โครงการ ออกแบบและผลิตนวัตกรรมอุปกรณ์การเรียนรู้การเขียนโปรแกรมสำหรับผู้พิการทางสายตา

          โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาธิณี  กรสิงห์ หัวหน้าโครงการ และคณะร่วมกับบริษัท ออโตเมชัน ไมโคร ดีไซน์ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา

          มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนร่วมกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ต้องการออกแบบและพัฒนาในครั้งนี้คือ KidDD Coding ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเริ่มต้นกระบวนการเขียนโปรแกรม หรือได้มีสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตร STEAM เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับเด็กปกติ

โครงการ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษโฟมเหลือทิ้งจากบริษัท ยูไนเต็ด สโตน จำกัด

          โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ดร.พัชราภรณ์  สมดี หัวหน้าโครงการ และคณะร่วมกับบริษัท ยูไนเต็ด สโตน จำกัด จังหวัดนครราชสีมา

          มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาของเหลือทิ้งร่วมกับบริษัทจึงได้ถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้องค์ความรู้จากผู้วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมวัสดุมาวิจัย แนวทางในการนำของเหลือโฟมพอลิสไตรีนมาผ่านกระบวนการไพโรไลซิส (pyrolysis process) เพื่อเปลี่ยนขยะโฟมพอลิสไตรีนให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ซึ่งตรงกับความโจทย์ความต้องการของบริษัทที่ต้องการกำจัดของเหลือทิ้งเหล่านี้ โดยพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์

โครงการ นวัตกรรมการจัดการศัตรูพืชเพื่อการผลิตพืชอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์และแปรรูปสมุนไพรตำบลศรีวิชัย

          โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อโนทัย วิงสระน้อย หัวหน้าโครงการ และคณะร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์และแปรรูปสมุนไพรตำบลศรีวิชัย จังหวัดสกลนคร

          มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์ความรู้นวัตกรรมการจัดการศัตรูพืชแก่เกษตรกรวิสาหกิจชุมชน ในการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพชุมชนเกษตรกรมีองค์ความรู้ ช่วยลดปริมาณประชากรของศัตรูพืชที่เข้าทำลายพืชปลูก ช่วยให้การผลผลิตพืชผัก ข้าวและสมุนไพรมีปริมาณและคุณภาพที่ดี นำไปจำหน่ายและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ได้คุณภาพดีและมูลค่าสินค้าสูงขึ้นได้

โครงการ การพัฒนาเครื่องทอดขนมปัง แบบกึ่งอัตโนมัติ

          โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ดร.บุญส่ง  ฤทธิ์ตา หัวหน้าโครงการ และคณะร่วมกับห้างหุ้นส่วน เทพทิพย์ เบเกอรี่ (2002) จังหวัดขอนแก่น

          มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบเครื่องทอดขนมปัง ประกอบด้วย 2 ส่วนงานที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนออกแบบเครื่องทอดขนมปัง และการตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน ซึ่งทั้งสองหัวข้อนี้ได้พิจารณาโดยที่ปรึกษาและผู้ประกอบการเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนั้นการศึกษาการวางแผน แก้ปัญหาแนวทางพัฒนา รวมถึงการออกแบบเพื่อสร้างเครื่องจักรสามารถใช้งานได้จริง จึงเป็นแนวทางเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิต ลดต้นทุนทำให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรและแข่งขันในตลาดได้

สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน /ข่าว

Message us
English EN Thai TH

เรียน นักศึกษา บุคลากร และผู้ใช้งานทุกท่าน

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเว็บไซต์เวอร์ชันใหม่
ขอความร่วมมือผู้ใช้งานทุกท่านใช้งานเว็บไซต์ใหม่ได้ที่

www.rmuti.ac.th