มทร.อีสาน ขยายฐานการวิจัยและผลิต โครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสาน ลงพื้นที่โคราช สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน มุ่งสร้างผู้ประกอบการแบบครบวงจรทุกพื้นที่ภาคอีสาน

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จัดพิธีเปิดโครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสาน ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ต.หนองระเวียง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พร้อมจัดกิจกรรมปลูกกัญชาสายพันธุ์หางกระรอก และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “มทร.อีสาน กับการขับเคลื่อน กัญนคร” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนพืชกัญชาสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” โดย ดร.ภก.อนันต์ชัย  อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ผ่านระบบออนไลน์ ทาง Facebook live : มทร.อีสาน-RMUTI และระบบออนไลน์ Zoom Meeting ID: 938 0084 0956 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มทร.อีสาน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงานและได้รับเกียรติจาก นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดในพิธีเปิด

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน  เปิดเผยว่า “โครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสาน” เกิดจากดำเนินงานตามนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพ ที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่ง มทร.อีสาน ได้มีการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรจนเกิดความสำเร็จของการปลูกและการวิจัยกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จนทำให้เกิดเป็นโครงการ “กัญนคร@ราชมงคลอีสาน” ซึ่งจะเป็นมิติของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โครงการนี้ มทร.อีสาน จะร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 กลุ่ม ต่อ 1 แปลง เพื่อร่วมกันปลูกกัญชา จำนวน 1,000 ต้น (ต่อ 1 รอบการปลูก) โดยจะมุ่งสร้างผู้ประกอบการแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างครบวงจร เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs ทั้งนี้  โครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสาน มีเป้าหมายจะการขยายพื้นที่โครงการให้ครอบคลุมทุกวิทยาเขตของ มทร.อีสาน เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการปลูกและดูแลพืชกัญชาในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมวิสาหกิจชุมชนในแต่ละจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปลูกพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย และการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากการศึกษาวิจัยและการผลักดัน เรื่องของพืชสมุนไพรกัญชง กัญชา แล้ว มทร.อีสาน ยังสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัยพืชสมุนไพรอื่นๆ ของไทยด้วย อาทิ กระท่อม ไพล เป็นต้น  โดย มทร.อีสาน ได้มีการจัดทำความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ต่อไป รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน  กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มทร.อีสาน กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยการปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการปลูกและดูแลพืชกัญชาที่ได้รับการยอมรับและเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญที่ให้บริการกับหน่วยงานและผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศ ภายใต้กรอบพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนและให้บริการทางวิชาการตลอดจนทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ให้กับนักศึกษารวมถึงองค์กร ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไปที่ต้องการความรู้ ทักษะ และนวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับองค์กร หน่วยงาน ชุมชน และครอบครัว โดยเฉพาะการนาองค์ความรู้ทางด้านเกษตรและเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะกัญชา ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะสามารถสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นการขยายโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานได้รับความรู้ความเข้าใจและสร้างทักษะในการปลูกและการดูแลรักษาพืชกัญชา และการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์และการรักษา รวมถึงเพื่อดูแลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อย่างเต็มตามประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ของพืชกัญชา และรองรับการเป็นแหล่งผลิตพืชกัญชาคุณภาพของภาคอีสาน อันจะนำมาซึ่งรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

แม้ในปัจจุบัน พืชกัญชาจะได้ปลดล็อคให้ทุกส่วนของพืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% ซึ่งจะเป็นเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชามากขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในรูปแบบของการรักษาด้วยตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสม 16 ตำรับ ที่ได้รับอนุญาตและตำรับยาแผนไทยที่ปรุงเฉพาะราย รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มยาสมุนไพร เวชสำอาง อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลายชนิด เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในสัตว์ ทำให้ความต้องการใช้พืชกัญชาในรูปแบบวัตถุดิบสด แห้ง แปรรูปและสารสกัดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็พืชกัญชายังถือเป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565  ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565  โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

บารมี โกนบาง / ภาพ

วราภรณ์ นามบุตร / ข่าว

Message us
English EN Thai TH

เรียน นักศึกษา บุคลากร และผู้ใช้งานทุกท่าน

ตามที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบเว็บไซต์เวอร์ชันใหม่
ขอความร่วมมือผู้ใช้งานทุกท่านใช้งานเว็บไซต์ใหม่ได้ที่

www.rmuti.ac.th