|
|
นับเวลาถึง
4,500 ล้านปี ที่โลกของเรากำเนิดขึ้นมาเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะจักรวาล
ที่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แต่นั่น หมายถึงว่าโลกต้องใช้เวลาในการสั่งสมวิวัฒนาการอีกไม่น้อยกว่า
2,500 ล้านปี กว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์แสงได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
คือ การกำเนิดของสาหร่ายสีเขียวแกม น้ำเงิน หรือ ไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria)
ที่รู้จักกันในชื่อซากโบราณ สโตรมาโตไลท์ (Stromatolites) ในมหาสมุทร
วิวัฒนาการเหล่านี้คงดำเนินเรื่อยมาภายใต้บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตมากขึ้น
โดยมีกลุ่มพืชเป็นตัวนำ และมีวิวัฒนาการของสัตว์ตามมาจากสัตว์เซลล์เดียวและสัตว์หลายเซลกลุ่มแรกๆ
จนถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์มีกระดูกสันหลังในน้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบัน
หลักฐานความเป็นมาเหล่านี้อาจพบได้จากซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ หรือฟอสซิล
ของทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถ
ทดสอบและคาดคะเนถึงอายุตลอดจนความเป็นมาที่ปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว
ที่มีหลักฐานยืนยันได้ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เช่นกันที่ผูกติดกับความเป็นมาของธรณีวิทยาของโลกอย่างแนบแน่น
อาจกล่าวได้ว่า โลกได้ช่วยกัน
ซึมซับเรื่องราวความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบันไว้ในสิ่งที่เรียกว่า
ธรรมชาติ มีมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ รวมทั้งพืชและ
สัตว์อื่นๆ ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในส่วนต่างๆของโลก โดยมีระบบนิเวศอันแตกต่างก่อให้เกิดความหลากหลาย
ทางชีวภาพ
ทั้งในแง่ของพันธุกรรมและในแง่ของสายพันธุ์และชนิดที่แตกต่างอย่างมากมาย
ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่ถือได้ว่าอยู่ในแถบสีเขียวของโลก
คือ บริเวณศูนย์สูตรซึ่งมี
ภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเหมาะกับการอยู่อาศัยของพืชและสัตว์ต่างๆ เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังอยู่ในบริเวณเขตรอยต่อทาง
วนภูมิศาสตร์ถึง 3 เขตติดต่อกัน คือ เขตอินโด-พม่า เขตอินโดจีนและเขตมาเลเซีย
จึงทำให้เป็นประเทศหนึ่งในโลก
ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงโดยมีความแตกต่างกันของระบบนิเวศหลายอย่างทั้งป่าไม้ผลัดใบเช่น
ป่าเบญจพรรณ
ป่าเต็งรัง และป่าไม้ไม่ผลัดใบ เช่น ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา
ป่าสน ป่าพรุ ป่าบุ่ง ป่าทาม ป่าชายหาด ป่าชายเลน เป็นต้น อีกทั้งยังมีทุ่งหญ้าเขตร้อนและสังคมพืชแบบจำเพาะ
อาทิ สังคมพืชกึ่งอับไพน์บนยอดเขาสูง อย่างเช่น ดอยเชียงดาว เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังมีชายฝั่งทะเลทั้งสองด้านคือ ทะเลอ่าวไทยทางตะวันออก
และทะเลอันดามัน ทางตะวันตก โดยอ่าวไทยเป็นเขตทะเลน้ำตื้นมีลักษณะเป็นทะเลปิด
ส่วนทะเลอันดามันเป็นทะเลเปิดติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย
ทำให้ทั้งสองฟากมีความแตกต่างกันทางระบบนิเวศอย่างเห็นได้ชัด
ในความหลากหลายของระบบนิเวศของประเทศไทยนี้เอง ที่ยังผลให้ประเทศไทยมีพันธุ์พืชที่ค้นพบแล้วไม่น้อยกว่า
20,000 ชนิด จากจำนวน 248,000 ชนิด และมีพันธุ์สัตว์ถึง 12,000 ชนิด
จากจำนวน 1.5 ล้านชนิดที่ศึกษาพบในโลก
มีผู้ประมาณการว่าน่าจะมีสัตว์ทั้งสิ้นถึง 100,000 ชนิดในประเทศไทย
หากมีการศึกษากันอย่างจริงจังและมีพันธุ์พืช
อีกนับไม่ถ้วนที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับประเทศในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาวแล้วก็พบว่า
ประเทศไทย
นั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าประเทศเหล่านั้นเป็นอันมาก
อย่างไรก็ตามในทุกวันนี้มีความน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งว่า ทรัพยากรชีวภาพที่ประเทศไทยมีอยู่มากมายประเทศ
หนึ่งในโลกนั้น กำลังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการเร่งพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม
การตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบสัมปทานที่ถูกต้องตามกฎหมายและจากการบุกทำลายป่า
ตั้งแต่สมัย
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้จนกระทั่งปัจจุบันทำให้เราสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปอย่างมากมายจาก
50-60 ปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่ประเทศไทยเหลือเพียงราวไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน
หรือเพียง 63,359,930 ไร่ ซึ่ง เป็นเพียงตัวเลขของสูญเสียเนื้อที่ป่าไม้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ส่วนทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ ไม่มีใครทราบว่าได้เกิดความสูญเสีย
ไปมากมายเท่าใดแล้ว เพื่อแลกกับการพัฒนาทางด้านวัตถุนิยมในปัจจุบัน
ทรัพยากรชีวภาพที่มีคุณค่าของประเทศไทยจะดำรงอยู่หรือสูญสิ้นไปช้าหรือเร็วเพียงใด
กลไกการอยู่รอด
ของมนุษย์ที่ไม่อาจแยกไปจากธรรมชาติจะมีทิศทางไปในทางใด และมนุษย์จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้หรือไม่
ทุกคำตอบคงต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์เองว่ามนุษย์จะรักษานิเวศธรรมชาติ
ที่อาศัยการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานนับพันล้านปีนี้ หรือจะเลือกการทำลายซึ่งจะส่งผลกระทบให้กับมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
แนวคิดทฤษฎี หลักการทางวิทยาศาสตร์ และความจริงในธรรมชาติ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสสาร
และพลังงาน
ในระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศ
ความหลากหลายทางชีวภาพ และ
ทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ตระหนักถึง
ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน และอนาคตโดยการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
1.
วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ความจริงของธรรมชาติผ่านกระบวนการ
ทดลองหาหลักฐานเชิงประจักษ์
มีผลต่อการควบคุมและประยุกต์ต่อการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อมนุษยชาติ
2.
คุณค่าของวิทยาศาสตร์มีต่อการเพิ่มค่าทางเศรษฐกิจ การค้นหาความจริง
และเพิ่มค่าทางปัญญา
(Eonomic Values, Truth Searching Values, Wisdom Values)
3. วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่สัมพันธ์กันระหว่างวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
(Natural Science) สังคมศาสตร์
แพทย์ศาสตร์ (Medical Science) และเศรษฐศาสตร์
4. เป้าประสงค์สูงสุดของวิทยาศาสตร์ คือ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้จาก
วิทยาศาสตร์
มาใช้เพื่อความผาสุกและการมีชีวิตที่มีคุณภาพของมนุษย์ การวางนโยบายและการตัดสินใจใน
ยุทธศาสตร์ของประเทศ
ควรมุ่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ การประยุกต์วิทยาศาสตร์
เพื่อสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืน
5. การวางนโยบายของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ควรมีเป้าประสงค์ไปที่พัฒนาความสามารถ
(Capacity Building) ของมนุษย์ สังคม และสถาบันต่าง ๆ
ในการมีพื้นฐานความรู้
ความคิด กระบวนวิธีการ เจตคติทางวิทยาศาสตร์ให้ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิต
และส่งผลต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ
สิ่งแวดล้อมกับคุณภาพชีวิต
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
มนุษย์ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อความสะดวกสบายและรวดเร็วในการดำรงชีวิต การใช้ทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นไปอย่าง
รวดเร็วซึ่งก่อให้เกิด
ผลกระทบต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและระยะยาว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น
นักเรียนจะเห็นว่าการพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยง่ายและควรที่ทุกคนจะเลือกทำให้ดีที่สุด
บุคคลที่มีชีวิตที่มีคุณภาพย่อมสามารถสร้างสรรค์ความคิดที่เหมาะที่ควร
อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่เหมาะสม ทั้งของตนเอง
ครอบครัว และประเทศชาติ
|